หมายเหตุ : ข้อมูลรายชื่อแอปพลิเคชันและข้อมูลของผู้ให้บริการ อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติม
หมายเหตุ : ข้อมูลรายชื่อแอปพลิเคชันและข้อมูลของผู้ให้บริการ อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติม
.
ปัจจุบันพบว่ามิจฉาชีพหลอกให้ประชาชนกู้เงินในหลากหลายรูปแบบ โดยมักจะส่งข้อความเชิญชวนหรือประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง SMS ไลน์ เฟสบุ๊ก เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์มาหา โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ หากเหยื่อหลงเชื่อก็จะให้สมัครผ่านแอปเงินกู้ หลังจากนั้นจะเริ่มขอเอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หน้าสมุดบัญชี แล้วหว่านล้อมหลอกให้เราโอนเงินค่าธรรมเนียม ค่ามัดจำต่าง ๆ หรือเงินค้ำประกันให้ก่อน จึงจะได้เงินกู้ตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งหากประชาชนหลงเชื่อแล้วอาจพบเจอกับสถานการณ์เหล่านี้
สุดท้ายมิจฉาชีพหายเงียบไปพร้อมค่าธรรมเนียม รู้ตัวอีกทีก็โดนหลอกเสียแล้ว
อีกหนึ่งกลุ่มสินเชื่อหรือเงินกู้ที่แบงก์ชาติไม่ได้กำกับดูแล คือ เงินกู้นอกระบบ (หนี้ที่ผู้ให้กู้ไม่อยู่ในระบบสถาบันการเงิน) อีกหนึ่งภัยทางการเงินที่น่ากลัวเช่นกัน เพราะการกู้นอกระบบมักมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (ตามกฎหมายคือ การเรียกเก็บดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี หรือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) และมักใช้วิธีทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เช่น ทวงหนี้ผ่านคนรู้จักทำให้ผู้กู้เกิดความอับอาย ข่มขู่ถึงแก่ชีวิต โดยมิจฉาชีพจะแฝงตัวมาในลักษณะปล่อยเงินกู้ผ่านระบบออนไลน์ เข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือ ประกาศในเว็บไซต์ต่างๆ เชิญชวนให้ใช้บริการ อ้างว่ากู้เงินได้เร็ว ไม่ต้องมีหลักประกัน จะเห็นว่าหนี้นอกระบบนั้นทั้งน่ากลัวและอันตราย นอกจากจะโดนเอาเปรียบให้เสียเงิน เสียบ้าน เสียรถ เสียชื่อเสียง เจ็บตัว หมดตัว หรือมีความเสี่ยงถึงชีวิต จึงไม่ควรเอาตัวไปยุ่งเกี่ยวอย่างเด็ดขาด
ด้วยช่องทางและรูปแบบการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่หลากหลาย หากท่านได้รับข้อความกู้เงินด่วนไม่ว่าช่องทางใดก็ตาม อย่าหลงเชื่อลิงก์ที่แนบมาโดยไม่มีแหล่งที่มา และห้ามกดเปิดลิงก์หรือกรอกข้อความใดๆ อย่างเด็ดขาด จนกว่าจะตรวจสอบให้มั่นใจ เพราะอาจเกิดความเสียหายและผลกระทบอีกมากมายที่ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็น ...
1. ข้อมูลส่วนตัว...โดนขโมยไปแบบไม่รู้ตัว
มิจฉาชีพอาจแฮกข้อมูลส่วนตัวของท่านเพื่อแอบอ้างหรือสวมรอยใช้ในทางมิชอบ ซึ่งอาจทำให้ผู้กู้เกิดความเสียหายและเสียทรัพย์จำนวนมาก เช่น แอบอ้างนำข้อมูลไปเปิดบัญชี e-Wallet ปลอม ปลอมตัวเป็นคนรู้จักด้วยการแฮก LINE หรือ Facebook ขอความช่วยเหลือให้โอนเงินให้ เป็นต้น
2. เสียทรัพย์...แต่กลับไม่ได้เงินกู้
มิจฉาชีพมักกำหนดเงื่อนไขการได้รับเงินกู้ที่ไม่ชัดเจน โดยมิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นสถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทให้กู้เงิน หรือเป็นนายหน้าช่วยขอสินเชื่อ และมักจะหลอกประชาชนว่า จะได้รับเงินกู้วงเงินสูง อนุมัติไว ขั้นตอนน้อย แต่จะดำเนินการได้จะต้องโอนเงินค่ามัดจำ หรือเงินค้ำประกันให้ก่อน ท้ายสุดมิจฉาชีพเชิดเงินหนี ประชาชนผู้ถูกหลอกก็จะเสียทั้งทรัพย์และไม่ได้เงินกู้อย่างที่ตั้งใจไว้
3. น่ากลัวกว่าที่คิด...เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต
หากมีการผิดนัดชำระหนี้ ลูกหนี้จะไม่สามารถประนอมหนี้ได้ และมิจฉาชีพมักข่มขู่จนอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้กู้
4. ดอกเบี้ยสุดโหด...จ่ายไม่หมดเสียที
เงินกู้นอกระบบมักมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่ไม่ชัดเจนขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้กำหนด ซึ่งมักเป็นอัตราที่สูงมาก
หากหลงเชื่อโอนเงินและตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแล้ว ต้องทำอย่างไร ?
1. ตั้งสติ รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่มี
2. แจ้งความ นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ
3. ติดต่อธนาคาร หลังจากทำการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ให้ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดยอดเงินบัญชีของมิจฉาชีพ
โดยท่านสามารถดำเนินการและแจ้งเหตุ ตามช่องทางด้านล่างนี้