ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (%YoY)
3.4%
มี.ค. 2568
ภาวะ • ตัวชี้วัด • แนวโน้ม
แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2568
เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมชะลอลงจากเดือนก่อน จากภาคบริการ โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง ด้านการบริโภคภาคเอกชนชะลอลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายหมวดบริการและสินค้าไม่คงทน ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตามการส่งออกโลหะมีค่าเป็นหลัก แต่ยังอยู่ในระดับสูงจากการเร่งส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ดี การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากหมวดยานยนต์และหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง
ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม 2568
หดตัวจากเดือนก่อน ตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ลดลง ทั้งภาคท่องเที่ยวที่ชะลอลงหลังหมดฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัว ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวตามการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เร่งผลิตในช่วงก่อน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรขยายตัวตามปริมาณผลผลิตจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี ยังช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง
เศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนมีนาคม 2568
เศรษฐกิจภาคอีสานหดตัวจากเดือนก่อน จากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวในทุกหมวดสินค้า เช่นเดียวกับภาคบริการท่องเที่ยวที่กลับมาหดตัวหลังเร่งไปในเดือนก่อน ขณะที่รายได้เกษตรกรขยายตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้การผลิตแปรรูปสินค้าเกษตรในภาคอุตสาหกรรมขยายตัว
เศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนมีนาคม 2568
เศรษฐกิจภาคใต้หดตัวจากเดือนก่อน ตามการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัว จากแรงส่งรายได้เกษตรกรและภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอลง โดยนักท่องเที่ยวลดลงจากชาวมาเลเซียเนื่องจากเป็นช่วงถือศีลอดและชาวจีนที่กังวลด้านความปลอดภัย ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการอาหารทะเลจากคู่ค้าเช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์
แนวโน้มเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลงและมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนยังสูงมาก คณะกรรมการฯ จึงประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์ ตัวอย่างเช่น ฉากทัศน์ที่การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน (reference scenario) อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 และฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง (alternative scenario) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.3 ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดจริงจะขึ้นอยู่กับนโยบายและการปรับตัวของประเทศต่างๆ จึงต้องติดตามพัฒนาการการค้าโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด การแก้ปัญหาและลดผลกระทบจากนโยบายการค้าข้างต้นจำเป็นต้องผสมผสานนโยบายหลายด้านเสริมกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ (ประมาณการ ณ 30 เมษายน 2568)