ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน

 

 

ความสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงิน

     เสถียรภาพระบบการเงิน (Financial Stability) คือระบบการเงินที่มีสุขภาพดี สามารถทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน และการระดมทุนของภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ

     ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่สามารถทนทาน (resilient) ต่อแรงกดดันจากปัจจัยไม่คาดฝันต่าง ๆ (shocks) ได้ดี 

 

impact

  

 

ความแตกต่างของเสถียรภาพระบบการเงิน เสถียรภาพการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงิน

       

        การดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เสถียรภาพการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงิน ล้วนเป็นพันธกิจของ ธปท. ซึ่งเสถียรภาพทั้งสามมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง

 

 

chart

 

ทำไมจึงต้องดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

       

        เสถียรภาพระบบการเงิน หรือ ระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะสามารถทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินได้อย่างราบรื่น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจของไทย ดังนี้

 

 

1. ระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจที่รุนแรง

    เพราะในโลกเศรษฐกิจการเงิน หากระบบการเงินมีความเปราะบางแม้เพียงจุดเล็กจุดเดียว ก็สามารถลุกลามไปสู่ปัญหาเชิงระบบ (systemic risk) ได้ เช่น เมื่อเกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากฟองสบู่แตก ผลกระทบจะไม่ได้อยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่อาจลุกลามไปยังภาคการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จนทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุดและส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง

impactchart

2. ระบบการเงินที่มีสุขภาพดี จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และไม่ชัดเจน (Volatility, Uncertainty, Complexity and Ambiguity : VUCA) ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ราคาน้ำมันที่ผันผวนสูง และการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ทำให้ระบบการเงินโลกมีความเชื่อมโยงและซับซ้อนมากขึ้น กล่าวได้ว่า ยิ่งสถานการณ์โลกคาดเดาได้ยากมากขึ้นเท่าไร การรักษาเสถียรภาพทางการเงินก็ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น

impactchart