เกี่ยวกับนโยบายการเงิน

นโยบายการเงินคืออะไร ?

 

นโยบายการเงิน คือ เครื่องมือของธนาคารกลางในการกำหนดต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้นทุนการกู้ยืมหรือปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลต่อการทำงานของระบบเศรษฐกิจและราคาสินค้าและบริการอีกทอดหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายการเงิน

 

เราดำเนินนโยบายการเงินเพื่ออะไร ?

 

ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุ 3 เป้าหมาย คือ เสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

ตัวแปรสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินคือ การปรับขึ้นลงของราคาสินค้าและบริการ หรือ “อัตราเงินเฟ้อโดยอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงหรือต่ำเกินไปจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ธปท. จึงดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ หรือที่เรียกว่า การดำเนินนโยบายการเงินโดยใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting)

 

ภายใต้กรอบดังกล่าว ธปท. จะผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบาย ทั้งเครื่องมือนโยบายการเงิน มาตรการทางการเงิน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้บรรลุทั้งสามเป้าหมายของนโยบายการเงิน เนื่องจากทุกเครื่องมือมีผลเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ โดยค่าเงินบาทถูกกำหนดโดยกลไกตลาด และ ธปท. จะเข้าดูแลในกรณีที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป

 

IPF diagram

 

ธปท. มีกระบวนการตั้งเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างไร ?

 

ธปท. จะจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินแบบรายปี โดยจะทำนโยบายเงินล่วงหน้าสำหรับปีถัดไปในช่วงปลายปี ในกระบวนการตั้งเป้าหมายนโยบายการเงิน ธปท. จะทำความตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติภายในเดือนธันวาคมของทุกปี โดยจะกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปีถัดไปและสำหรับระยะปานกลางเอาไว้ หากอัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย ผู้ว่าการ ธปท. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่ออธิบายสาเหตุและแนวทางเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย โดยเปิดเผยเนื้อหาในจดหมายให้ประชาชนทราบด้วย

 

ธปท. ตัดสินนโยบายการเงินอย่างไร ?

 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินโดยใช้วิธีเสียงข้างมาก และเปิดเผยจำนวนคะแนนเสียงพร้อมกับผลการตัดสินนโยบายการเงินต่อสาธารณะ

 

กนง. มีกรรมการทั้งหมด 7 คน มาจากผู้บริหาร ธปท. 3 คน และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ธปท. 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือก มีวาระคราวละ 3 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

 

ธปท. จะประกาศตารางการประชุม กนง.ของปีถัดไปล่วงหน้า ทั้งนี้ กนง. สามารถประชุมรอบพิเศษเพิ่มได้หากจำเป็น

 

ธปท. ติดตามและประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร ?

 

นโยบายการเงินใช้เวลาประมาณ 2 ปีถึงจะมีผลเต็มที่ต่อเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคตที่น่าเชื่อถือและครบถ้วนรอบด้าน โดยใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ เช่นข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือนและเครื่องชี้เร็วด้านเศรษฐกิจ และ ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเชิงลึกทั่วประเทศ เพื่อให้การตัดสินนโยบายการเงินสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

นอกจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ธปท. ยังติดตามข้อมูลภาวะการเงิน และข้อมูลเสถียรภาพของระบบการเงินในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน รวมไปถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลก เพื่อให้ตัดสินนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ

 

ขั้นตอนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ฝ่ายเลขานุการจัดทำประเด็นหลักของการประชุม กนง. (theme) เพื่อประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน โดยจัดเตรียมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญเพื่อส่งให้ กนง. ก่อนการประชุม

การประชุม กนง. วันแรกจัดขึ้นในช่วงประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมวันที่สอง โดยกรรมการ กนง. หารือประเด็นทางเศรษฐกิจล่าสุดและแนวโน้มในระยะข้างหน้า ทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลาดการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน ปัจจัยเสี่ยง การวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ในกรณีต่าง ๆ อย่างรอบด้าน รวมทั้งหารือนัยต่อนโยบายการเงิน

การประชุม กนง. วันที่สองเป็นวันลงมติตัดสินนโยบายและแถลงผลการประชุม กรรมการ กนง. หารือประเด็นเศรษฐกิจการเงินเพิ่มเติม และหารือทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงการผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ ก่อนลงมติเพื่อตัดสินอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ

ผลการประชุม กนง. เผยแพร่เวลา 14.00 น. ในวันที่สองของการประชุม กนง. ทางเว็บไซต์ของ ธปท. และเลขานุการ กนง. จะแถลงข่าวผลการประชุมและตอบคำถามแก่สื่อมวลชน ในเวลา 14.30 น.

นอกจากนี้ หลังจากวันประชุม กนง. 2 สัปดาห์ กนง. จะเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อ และในทุกไตรมาส กนง. จะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน รวมทั้งจัดให้มีการประชุม Monetary Policy Forum ด้วย

 

ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศประเมินการดำเนินนโยบายการเงินไทยอย่างไร?

ธปท. ดําเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2543 โดยในโอกาสครบรอบ 10 ปีในปี 2553 ธปท. ได้จัดให้มีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศ ว่ากรอบการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวยังมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ และควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายในระยะข้างหน้า

ผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงินไทย (พ.ศ. 2543-2553)

  • ข่าว ธปท. เรื่อง สรุปผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงิน (14 ต.ค. 2553)

  • สารจากผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ)

  • บทสรุปผู้บริหาร (ภาษาอังกฤษ)

  • รายงานผลการประเมินการดำเนินนโยบายการเงินไทย 2543-2553 (ภาษาอังกฤษ)

  • สไลด์นำเสนอ (ภาษาอังกฤษ)