ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ (Managed Float) ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม 2540 ภายใต้ระบบนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะเป็นไปตามกลไกตลาดและสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น ๆ ในการดูแลค่าเงินบาท ธปท. ไม่ได้กำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ค่าใดค่าหนึ่ง หรือผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินตราต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่ง ทั้งนี้ ธปท. อาจพิจารณาเข้าดูแลค่าเงินบาทในบางช่วงเวลา เมื่อค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงจนผิดปกติและเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง
การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทส่วนใหญ่เป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินสำคัญของโลก เช่น ดอลลาร์ สรอ. ยูโร ปอนด์สเตอร์ลิง และเยน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนว่า ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อค่าเงินบาทเกิดจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก เช่น แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างประเทศ ความแตกต่างระหว่างแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมถึงมุมมอง ความรู้สึก และความเชื่อมั่นของนักลงทุน อย่างไรก็ดี ปัจจัยในประเทศ เช่น ตัวเลขการจ้างงาน การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ความแข็งแกร่งของเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทย ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อค่าเงินบาทเช่นกัน
ปัจจุบัน โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้น ในกรณีที่ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท. อาจพิจารณาเข้าดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยนอกจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แล้ว ยังพิจารณาอีกจากหลายปัจจัย เช่น ดัชนี Nominal effective exchange rate (NEER) ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินของคู่ค้าและคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ ทั้งนี้ การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. จะต้องไม่ฝืนปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย
สำหรับการเลือกใช้เครื่องมือเพื่อเข้าดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทนั้น ธปท. จะประเมินความเหมาะสมตามสถานการณ์ โดยอาจทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อชะลอความผันผวนของค่าเงินบาทในระยะสั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินสำรองระหว่างประเทศ (เงินสำรองฯ) กล่าวคือ หาก ธปท. เข้าดูแลเงินบาทเพื่อชะลอความผันผวนด้านแข็งค่า จะเป็นการเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศและขายเงินบาท ซึ่งจะทำให้เงินสำรองฯ ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่การเข้าดูแลเงินบาทเพื่อชะลอความผันผวนด้านอ่อนค่า จะเป็นซื้อเงินบาท และการขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เงินสำรองฯ ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีสัญญาณของการเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. อาจใช้เครื่องมืออื่นเพิ่มเติมในการดูแลค่าเงินบาทด้วย เช่น มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งอาจมีการปรับระดับความเข้มข้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินสำรองฯ แต่ละช่วงเวลา ไม่ได้เป็นผลจากการดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับผลตอบแทนการลงทุน และการตีมูลค่าสินทรัพย์ในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ. ด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเงินสำรองฯ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ลงทุนเป็นสำคัญ