พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) โครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)
แถลงข่าวร่วม | 19 ธันวาคม 2567
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการโครงการส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ระหว่าง ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาวอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และนายธาดา เศวตศิลา ประธานมูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเมนท์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินโดยการผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา รวมถึงพัฒนานิสิตนักศึกษาครู ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ และบุคลากรทางการศึกษาในด้านความฉลาดรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ให้สามารถส่งต่อความรู้ทางการเงินแก่นักเรียนทุกระดับชั้นการศึกษา สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างเหมาะสม มีค่านิยมทางการเงินที่ถูกต้อง ลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น จนเกิดเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในชุมชนทางการศึกษา
บทบาทของ ธปท. ในเรื่องดังกล่าว คือการวางรากฐานความรู้ทางการเงินและเร่งปลูกฝังทัศนคติเพื่อเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับประชาชนทุกคนตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการผลักดันความรู้ทางการเงินเข้าสู่สถานศึกษา หรือการสร้าง“ห้องเรียนการเงิน” เพื่อให้เด็กไทยมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติทางการเงินที่ดี เช่นเดียวกับบทบาทของ ธปท. ในโครงการนี้ คือ การสนับสนุนด้านความรู้ทางการเงิน ผ่านการผลิตครูการเงินตั้งแต่ต้นน้ำจากระบบมหาวิทยาลัย โดยการจัดทำหลักสูตรความรู้ทางการเงินแก่นิสิตนักศึกษาครู (ครูใหม่) รวมไปถึงยกระดับความรู้ทางการเงินให้แก่ครูปัจจุบัน โดยการจัดอบรมหลักสูตรเสริมทักษะด้านการเงินที่สำคัญให้แก่ครู เพื่อสร้างบุคลากรครูที่สามารถส่งต่อความรู้ทางการเงินให้นักเรียน เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีความรู้ทางการเงินเพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเองและสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่พวกเขาจะต้องพบเจอในชีวิตทั้งในวันนี้และวันหน้าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้ต่อไปอย่างมั่นคง
ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะร่วมแรงร่วมใจกันในการผลักดันความรู้ทางการเงินให้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างแท้จริง ผ่านครูผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อความเสี่ยงทางการเงินแก่เด็กไทย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงินของประชาชนคนไทย (Financial Well-being) ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
19 ธันวาคม 2567
ส่วนกลยุทธ์การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
E-mail: cpstrategy-fcd@bot.or.th