การแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์

งาน IMF-World Bank Group

Annual Meetings 2026

30 มกราคม 2567

ประกาศผลการแข่งขัน

กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลจากการแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์ งาน IMF-World Bank Group Annual Meetings 2026

รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 100,000 บาท ได้แก่ คุณไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ

รางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท ได้แก่
1. คุณอรรคพล ล่าม่วง
2. คุณพิทักษ์ ทนาบุตร

ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัล และขอขอบคุณผู้สมัครทุกท่านที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของก้าวแรกในการจัดงานประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในอีก 3 ปีข้างหน้า

หมายเหตุ ทีมงานจะติดต่อผู้ที่ได้รับรางวัลต่อไป

กระทรวงการคลัง และ ธปท. ขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์ งาน IMF-World Bank Group Annual Meetings 2026

 

รายละเอียดโครงการ

กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภากองทุนการเงินระหว่างประเทศและผู้ว่าการธนาคารโลก ในปี 2026 ที่ประเทศไทย ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นการประชุมด้านเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญที่สุดของโลก โดยคาดว่ามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารจากประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินชั้นนำของโลกกว่า 12,000 คน เข้าร่วมประชุม   

การประชุมดังกล่าว นอกจากประเทศไทยจะได้แสดงบทบาทในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลกแล้ว ยังเป็นช่องทางนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยในด้านต่าง ๆ ให้เผยแพร่ไปทั่วโลก และในโอกาสพิเศษนี้ จะมีการจัดทำตราสัญลักษณ์ของการประชุม ซึ่งจะนำไปใช้ในวาระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงของการเตรียมการในปี 2024 จนถึงวันจัดประชุมในปี 2026  จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ของประเทศไทย

ออกแบบตราสัญลักษณ์ และกราฟิกประกอบ ของงาน IMF-World Bank Group Annual Meetings 2026 โดยสื่อถึงแนวคิดทันสมัย สะท้อนความเป็นผู้นำและความร่วมมือระหว่างประเทศ และมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย พร้อมทั้งอธิบายแนวทางการใช้งานในสื่อต่าง ๆ

  • นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดอายุ
  • แข่งขันประเภทรายบุคคลหรือประเภททีม (ทีมละไม่เกิน 5 คน)

 

หมายเหตุ : ผู้สมัครสามารถกรอกข้อมูลและส่งผลงานได้ครั้งละ 1 ผลงานต่อ 1 ใบสมัคร หากต้องการส่งมากกว่า 1 ผลงาน จะต้องทําการสมัครและส่งผลงานใหม่อีกครั้ง

เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 66 ถึงวันที่ 14 ม.ค. 67 เวลา 23.59 น. โดยผู้ที่สนใจสามารถกรอกข้อมูลและส่งใบสมัครทางออนไลน์ได้ที่ คลิก >> ใบสมัคร หลังจากส่งใบสมัครแล้ว ผู้สมัครจะได้รับอีเมล์จาก ธปท. เพื่อยืนยันการสมัครเข้าร่วมแข่งขัน

QRCODE

28 พ.ย. 66 – 14 ม.ค. 67 เปิดรับสมัครและส่งผลงาน

30 ม.ค. 67 ประกาศรางวัลชนะเลิศ และรางวัลรองชนะเลิศ 2 รางวัล รวมทั้งหมด 3 รางวัล ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย 

ผู้สมัครจะต้องส่งผลงาน โดยการส่งลิงก์ Google Drive หรือลิงก์จัดเก็บไฟล์อื่น ๆ ที่คณะกรรมการสามารถเข้าไปชมผลงานและ download ได้ ภายในไฟล์ประกอบด้วย

1. ออกแบบตราสัญลักษณ์ (Logo) และกราฟิกประกอบ (Graphic Elements) จัดวางลงในกระดาษขนาด A4 (21 x 29.7 ซม.) บันทึกเป็นไฟล์ .PDF โดยตราสัญลักษณ์แบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 ภาพสัญลักษณ์หลักวงกลมรูปธงชาติ ที่ต้องคงไว้ - สามารถดาวน์โหลดไฟล์และข้อกำหนดการใช้งานได้

ส่วนที่ 2 ตัวอักษรที่ผู้สมัครต้องออกแบบ (ใช้สีได้ไม่เกิน 3 สี) คำว่า

ANNUAL MEETINGS  
2026 THAILAND
INTERNATIONAL MONETARY FUND  
WORLD BANK GROUP

การออกแบบต้องคํานึงถึงความยืดหยุ่นในการใช้งานที่หลากหลาย เช่น การจัดวางแนวตั้ง-แนวนอน การทําตราประทับ การพิมพ์แบบสีเดียว การพิมพ์แบบซิลค์สกรีน หรือการปักผ้า

logo

2. แนวคิดการออกแบบ และ แนวทางการใช้งาน จัดวางลงในกระดาษขนาด A4 (21 x 29.7 ซม.) บันทึกเป็นไฟล์ .PDF โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 อธิบายแนวคิดการออกแบบตราสัญลักษณ์ 1 หน้า
2.2 อธิบายแนวทางการใช้ตราสัญลักษณ์ และกราฟิกประกอบ ไม่จำกัดจำนวนหน้า (Visual Style Guide) พร้อมตัวอย่างสื่อประชาสัมพันธ์ ดังต่อไปนี้

- ป้าย x-stand ขนาด 50 x 120 cm
- Facebook cover photo ขนาด 851 x 315 pixel
- Presentation Background ขนาด 1920 x 1080 pixel
- Backdrop ขนาด 300 x 200 cm

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

logo

สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามในการออกแบบตราสัญลักษณ์ มีดังนี้

1. ความกว้างของตัวอักษรที่บ่งบอกปีและชื่อประเทศ ต้องไม่เกินกว่าความกว้างของตัวอักษร International Monetary Fund
2. ความสูงของตัวอักษรที่บ่งบอกปีและชื่อประเทศ ต้องไม่เกินกว่าความสูงของตัวอักษร World Bank Group และ International Monetary Fund รวมกัน
3. การออกแบบต้องคำนึงถึงการวางตราสัญลักษณ์ทั้งบนพื้นสีขาวและพื้นสีน้ำเงิน (ใส่รูปประกอบ)
4. หากออกแบบบนพื้นสีน้ำเงิน ต้องมีการออกแบบตัวอักษรสีขาวมาให้ด้วย

รางวัลชนะเลิศ – 100,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศ – 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท

 

หมายเหตุ 

1. ห้ามลอกเลียนหรือดัดแปลงตราสัญลักษณ์ของหน่วยงานหรือองค์กรอื่น และไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น รวมทั้ง ไม่เคยส่งผลงานนี้เข้าประกวดในงานอื่นใดมาก่อน หากตรวจพบ ผลงานนั้นจะถูกตัดสิทธิ์
2. Font และภาพประกอบที่นำมาใช้ต้องถูกลิขสิทธิ์
3. สามารถส่งผลงานได้มากกว่า 1 ผลงาน โดยทําการสมัครและอัปโหลดผลงานได้ครั้งละ 1 ผลงานต่อ 1 ใบสมัคร โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
4. ผู้เข้าแข่งขันอัปโหลดผลงานเป็นไฟล์ .pdf เท่านั้น โดยต้องเป็นผลงานที่ออกแบบด้วยตนเอง ห้ามใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) หากตรวจพบ ผลงานนั้นจะถูกตัดสิทธิ์
5. ผู้เข้าแข่งขันต้องไม่ใช่บุคลากรของ ธปท. และกระทรวงการคลัง

01

รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 100,000 บาท

ผู้ออกแบบ : คุณไพฑูรย์ ปฏิสนธิเจริญ

แนวคิดการออกแบบ : ผู้ออกแบบต้องการสื่อถึงความเป็นไทย การเงิน และความทันสมัย จึงได้นำลายไทยที่เรียกว่า “ลายประจำยาม” และ “ตราพระแสงจักร” ที่อยู่บนเหรียญไทยโบราณ (เหรียญพดด้วง) มารวมกันแล้วนำมาลดทอนรายละเอียด เพื่อให้มีความทันสมัย และจดจำได้ง่าย หลังจากได้ไอคอน ที่เป็นไอเดียตั้งต้นแล้ว จึงนำมาต่อยอดออกแบบลักษณะของตัวหนังสือในตราสัญลักษณ์ ส่วนลายกราฟิกต่าง ๆ ผู้ออกแบบได้นำตราพระแสงตรี ตราครุฑ และตราใบมะตูม บนพดด้วงมาลดทอนและจัดวางเป็นแพตเทิร์น

2

รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท

 

ผู้ออกแบบ : คุณอรรคพล ล่าม่วง

แนวคิดการออกแบบ : ผู้ออกแบบนำเสนออัตลักษณ์ของประเทศไทยแบบร่วมสมัย โดยใช้สีทอง รูปทรงเรขาคณิต และลักษณะรูปข้าวหลามตัดที่ดัดแปลงมาจาก “ลายดอกกนก” ซึ่งยังคงความเรียบง่าย และได้กลิ่นอายของโลกอนาคต เพื่อสื่อสารถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความทันสมัย ในส่วนของลายกราฟิกนั้น ผู้ออกแบบนำ “หัตถกรรมจักสาน” มาใช้นำเสนอเรื่องการสานต่อ ความเชื่อมโยง ความมีระบบระเบียบ ประกอบด้วย 3 มิติ แห่งการสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินโลก คือ มีธรรมาภิบาลที่ดี (Effective Governance) การดูแลความเสมอภาคทางสังคม (Social Equality) และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

3

รางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 30,000 บาท
 

ผู้ออกแบบ : คุณพิทักษ์ ทนาบุตร

แนวคิดการออกแบบ : ผู้ออกแบบใช้แนวคิด “สัญญะ-จิตวิญญาณ-ไทย (Sign of Thai Spiritual)” ซึ่งมีที่มาจากพหุวัฒนธรรม (Cultural Diversity) จากทั้ง 4 ภาคของไทย ได้แก่ ต๋าแหลว (ภาคเหนือ) เฉลว (ภาคกลาง) ตาแหลว (ภาคอีสาน) และ กะหลิว (ภาคใต้) นำมาพัฒนาเป็นตราสัญลักษณ์ และกราฟิกประกอบที่สื่อถึง เอกภาพ บูรณาการ และการสานสัมพันธ์

1. ผู้เข้าร่วมการแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์ และ Key Visual งาน IMF-World Bank Group Annual Meetings 2026 (ผู้เข้าแข่งขัน) รับรองว่า ผลงานที่ผู้เข้าแข่งขันได้ส่งเข้าร่วมแข่งขันไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมด จะต้องไม่มีลักษณะอันเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น เช่น ไม่ใช้เครื่องหมายการค้า ไม่คัดลอกผลงานจากผู้อื่น และไม่ใช้ภาพประกอบที่เป็นลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น   
2. ผู้เข้าแข่งขัน ตกลงที่จะให้กรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานที่ได้ส่งเข้าแข่งขันในครั้งนี้ตกเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง มีสิทธิที่จะใช้ลิขสิทธิ์ในผลงานของผู้เข้าแข่งขันในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน ใช้ประโยชน์ในกิจการ หรือดำเนินการในรูปแบบใด ๆ โดยไม่ต้องแจ้งขอรับความยินยอมจากผู้เข้าแข่งขันและไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในผลงานที่ได้ส่งดังกล่าว
3. ผู้เข้าแข่งขัน รับทราบและยอมรับว่า กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังตรวจพบในภายหลัง ว่าผู้เข้าแข่งขันมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน มีการให้ข้อมูลเท็จ มีการทุจริต มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในการเข้าแข่งขัน ไม่ว่ากรณีใดกรณีหนึ่งหรือทั้งหมดดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง มีสิทธิระงับหรือตัดสิทธิการเข้าแข่งขันของผู้เข้าแข่งขัน หรือเปลี่ยนแปลงผลการตัดสิน รวมถึงเรียกคืนรางวัลทั้งหมดจากผู้เข้าแข่งขันได้
ทั้งนี้  กรณีที่ตรวจพบว่าผู้แข่งขันมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นอันทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้รับเสียหายไม่ว่ากรณีใด นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะถูกตัดสิทธิและระงับสิทธิดังกล่าวแล้วผู้เข้าแข่งขันจะต้องรับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังอีกด้วย
4. ผู้เข้าแข่งขัน รับทราบและยอมรับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง สงวนสิทธิในการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ รายละเอียด ข้อกำหนดและเงื่อนไข หรือยกเลิกการแข่งขันออกแบบตราสัญลักษณ์ และ Key Visual งาน IMF-World Bank Group Annual Meetings 2026 โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทราบล่วงหน้า และผู้เข้าแข่งขันไมมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ได้ดำเนินการเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ทีมงานประกวดโลโก้การประชุม IMF-WB 2026