กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

Financial Institutions Development Fund (FIDF)

ประวัติความเป็นมา บทบาทหน้าที่ และโครงสร้างองค์กร

ประวัติความเป็นมา

          กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อให้ทางการสามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤติการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน ภายใต้กรอบนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล

          ในระยะแรกกองทุนฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา ทำให้ต้องเข้าไปถือหุ้นในสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์หลายแห่ง และได้เข้าไปบริหารสินทรัพย์ เร่งรัดติดตามหนี้สินที่ได้รับจากการให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงิน รวมทั้งได้มีบทบาทในการเข้าไปค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเหล่านั้นตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินของประเทศโดยรวม  ต่อมาในปี 2546 กองทุนฯ ได้ลดบทบาทในการค้ำประกันเจ้าหนี้สถาบันการเงินคงเหลือเพียงการค้ำประกันการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากเงินเท่านั้น

          ในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 เมื่อพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ บทบาทด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินของกองทุนฯ ได้สิ้นสุดลง โดยเป็นภารกิจของสถาบันคุ้มครองเงินฝากเป็นผู้รับไปดำเนินการ ภารกิจของกองทุนฯ คงเหลือเพียงการทำหน้าที่บริหารสินทรัพย์ของกองทุนฯ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้สินและภาระผูกพันที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เสร็จสิ้น เพื่อสามารถชำระบัญชีและปิดกองทุนฯ ได้ในที่สุด ส่วนบทบาทการให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินนั้น ในช่วงระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลใช้บังคับ กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า หากยังไม่มีการตรากฎหมายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินใช้บังคับ กองทุนฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินต่อไป  ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจะใช้คืนเงินที่ใช้ในการดำเนินการดังกล่าวให้แก่กองทุนฯ  อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กองทุนฯ ยังคงทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินภายหลังวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ต่อไป

          ในวันที่ 27 มกราคม 2555 พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 มีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้กองทุนฯ มีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือการจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2540 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2545

 

สถานะของกองทุนฯ

           กองทุนฯ มีฐานะทั้งเป็นส่วนหนึ่งและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในส่วนของการบริหารงานกองทุนฯ เป็นฝ่ายหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยฝ่ายจัดการกองทุนทำหน้าที่ในการบริหารภายใต้กรอบของคณะกรรมการจัดการกองทุน มีการจัดทำบัญชีและงบประมาณเป็นของกองทุนฯ เอง และมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจบัญชี โดยได้รายงานผลการสอบบัญชีนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อทราบ

 

การบริหาร

          กองทุนฯ บริหารงานโดยคณะกรรมการจัดการกองทุน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน และปลัดกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง และมีกรรมการอื่นแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน ปัจจุบันคณะกรรมการจัดการกองทุนมีกรรมการทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย 4 คน กระทรวงการคลัง 4 คน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย อีกแห่งละ 1 คน โดยมีผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำรงตำแหน่งกรรมการจัดการกองทุน เลขานุการคณะกรรมการจัดการกองทุน และผู้จัดการกองทุนด้วย

บทบาทหน้าที่

 

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกว่า "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน" ให้กองทุนฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ โดยมี "ฝ่ายจัดการกองทุน" เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น มีหน้าที่โดยสรุปดังนี้

ผังโครงสร้างองค์กร