กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
Financial Institutions Development Fund (FIDF)
ความเป็นมาของหนี้
การจัดการหนี้ (ปี 2541-2545)
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้ฯ พ.ศ. 2555
การบริหารหนี้ภายหลังกฎหมายปี 55 มีผลบังคับใช้
เศรษฐกิจของไทยส่อเค้ามีปัญหาตั้งแต่ปี 2539 โดยเริ่มจากปัญหาการชะลอตัวของมูลค่าส่งออก ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันจากต่างประเทศที่รุนแรงขึ้น อาทิ จีน อินโดนีเซีย เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งเกิดจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในตลาดเงินตราต่างประเทศแข็งขึ้น ทำให้เงินบาทซึ่งมีองค์ประกอบเป็นดอลลาร์ในตะกร้าเงินเป็นสัดส่วนสูงแข็งค่าตามไปด้วย ในอีกด้านหนึ่งเงินทุนในรูปเงินกู้ยืมไหลเข้ามาในจำนวนสูงมาก ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อโดยขาดความระมัดระวัง โดยมีการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเศรษฐกิจซบเซาเกิดปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลให้บริษัทเงินทุนที่เป็นสถาบันการเงินที่ให้กู้ยืมแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด ถูกผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจก่อนที่จะมีข่าวลือเกี่ยวกับความอ่อนแอของฐานะการเงินตามมาในอีกระยะหนึ่ง
ต้นเดือนพฤษภาคม 2539 ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและส่งผลกระทบต่อบริษัทเงินทุนในเครือ หลังจากนั้นกระแสข่าวลือเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทเงินทุนก็เริ่มมีมาเป็นลำดับ จนกระทั่งต้นเดือนกันยายน 2539 มีข่าวว่าบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางแห่งมีปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นถูกควบคุมโดยทางการ มีการระบุชื่อสถาบันการเงินหลายแห่ง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาปฏิเสธข่าว แต่กระแสการถอนเงินฝากก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ได้ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินดังกล่าวเพื่อนำไปชำระคืนผู้ฝากเงิน และในช่วงต้นปี 2540 ก็มีข่าวการลดค่าเงินบาท และข่าว Moody's จะพิจารณาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหนี้ระยะยาว นอกจากจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระยะสั้นผันผวนรุนแรงระหว่างร้อยละ 10-30 ต่อปี ข่าวการขาดสภาพคล่องของบริษัทเงินทุนก็เริ่มแพร่สะพัด ทำให้กระแสการถอนเงินฝากลุกลามต่อเนื่องออกไปในวงกว้าง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศรายชื่อบริษัทเงินทุนที่ต้องเพิ่มทุน 10 แห่ง เพื่อแยกแยะสถาบันการเงินที่มีปัญหาฐานะออกมา แต่ผลปรากฏว่าประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น กระแสการถอนเงินฝากยิ่งขยายออกไปเป็นวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ และต้องขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ จนถึงกลางเดือนมิถุนายน 2540 สถาบันการเงินที่กองทุนฯ ต้องให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องมีจำนวนมากกว่า 40 แห่ง เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
ในที่สุดเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2540 กระทรวงการคลังได้ประกาศระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินชั่วคราว เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านั้นจัดทำแผนเพิ่มทุน/ควบรวมกิจการ จำนวนรวม 16 แห่ง (กลุ่ม 16) ในส่วนของประชาชนผู้ฝากเงิน ทางการให้สิทธิแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินแบบมีกำหนดเวลาตามที่ทางการกำหนดของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) เต็มตามจำนวนต้นเงิน ทั้งยังได้รับดอกเบี้ยตามที่กำหนดด้วย ต้นเดือนกรกฎาคม 2540 ได้มีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้สถานการณ์ระบบสถาบันการเงินยิ่งทรุดต่ำลงไปอีก แม้ว่ารัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้รับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศในระบบบริษัทเงินทุนที่ไม่ได้ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งคาดว่ามีความปลอดภัยเต็มที่ กระแสการถอนเงินฝากจากบริษัทเงินทุนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 5 สิงหาคม 2540 กระทรวงการคลังได้ประกาศระงับการดำเนินกิจการของสถาบันการเงินชั่วคราวอีก 42 แห่ง (กลุ่ม 42) เพื่อแยกบริษัทเงินทุนที่ประสบปัญหาความมั่นคงออกจากบริษัทที่สามารถดำเนินธุรกิจโดยปกติต่อไปได้ ในส่วนของประชาชนผู้ฝากเงิน ทางการให้สิทธิแลกเปลี่ยนเป็นบัตรเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำนองเดียวกับกลุ่ม 16 สำหรับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศได้รับการดูแลเช่นเดียวกับผู้ฝากเงิน แต่ได้รับในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าประชาชนผู้ฝากเงิน (เจ้าหนี้กลุ่ม 16 ไม่สามารถแลกเปลี่ยนตั๋วได้ต้องไปขอเฉลี่ยคืนจากกองทรัพย์สินของสถาบันการเงินนั้น ๆ)
ในวันเดียวกัน (5 สิงหาคม 2540) คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักเกณฑ์และมาตรฐานการประกันเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ทุกรายของสถาบันการเงินที่ยังเปิดดำเนินการอยู่ทุกแห่ง โดยมอบหมายให้กองทุนฯ เป็นผู้ดำเนินการตามมติดังกล่าว รวมทั้งเป็นผู้จัดหาสภาพคล่องให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อจ่ายคืนผู้ฝากเงินที่แลกเปลี่ยนเป็นตราสารของสถาบันการเงินทั้งสองแห่ง กองทุนฯ ได้ประมาณการความเสียหายจากการช่วยเหลือผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเหล่านี้รวมทั้งสิ้น 519,298 ล้านบาท
การประกาศหลักเกณฑ์การประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ฝากเงินได้ทั้งหมด กระแสการถอนเงินฝากในระบบสถาบันการเงินก็ยังคงมีอยู่อันเนื่องมาจากข่าวลือต่าง ๆ สถานการณ์ค่าเงินบาทและสถานการณ์ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับที่สูงมากกว่าร้อยละ 20 ในตลาดการเงิน ทั้งยังลุกลามไปยังธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก จนกระทั่งทางการได้ออกมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 ประกอบด้วย มาตรการหลาย ๆ มาตรการ กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ/ผู้บริหาร เพิ่มทุน ควบรวมกิจการ และการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกมาจากสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถดำเนินธุรกรรมตามปกติได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องใช้เงินจากทางการเป็นจำนวนมาก แต่ต้นทุนยังต่ำกว่าการปิดกิจการและจ่ายคืนผู้ฝากเงิน นอกจากนี้ ผลดีคือลูกหนี้ปกติของสถาบันการเงินเหล่านั้นยังสามารถใช้บริการและเบิกจ่ายเงินได้ตามปกติ
จากการดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงการคลังมอบหมายทั้งมาตรการช่วยผู้ฝากเงิน และช่วยฟื้นฟูฐานะการเงินของสถาบันการเงิน เป็นผลให้กองทุนฯ ต้องกู้ยืมเงินในระบบเพื่อมาสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เป็นจำนวนสูงมาก และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมระยะสั้นจากตลาดเงิน และต้องประสบความเสียหายเป็นจำนวนกว่า 1.4 ล้านล้านบาทตามประมาณการที่กองทุนฯ ได้จัดทำ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2545
ประเภทความเสียหาย จำนวนเงิน (ล้านบาท)
1. การช่วยเหลือผู้ฝากเงิน 554,149
2. การฟื้นฟูกิจการด้วยการเข้าเพิ่มทุน 169,139
3. การฟื้นฟูกิจการด้วยการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) 650,750
4. ค่าดอกเบี้ยจ่ายและค่าใช้จ่ายอื่นสุทธิ (หลังหักเงินนำส่งและเงินได้อื่น ๆ) 27,412
ความเสียหายทั้งสิ้นสุทธิ 1,401,450
ในการมอบหมายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฯ) ดำเนินมาตรการใด ๆ ที่จะฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน รัฐบาลได้ให้คำรับรองที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนฯ มาเป็นลำดับ ดังนี้
1. การตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า "พันธบัตร F1")
ความเสียหายในช่วงแรกของการเกิดวิกฤติสถาบันการเงิน ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดจากการช่วยเหลือผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการทั้ง 56 แห่ง และการเข้าแก้ไขปัญหากรณีของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) บางส่วน ประมาณการเบื้องต้นรวมเป็นจำนวน 500,000 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม 2541 รัฐบาลได้ตราพระราชกำหนดออกพันธบัตร F1 เพื่อช่วยเหลือกองทุนฯ โดยภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้เงิน ทางการจะตั้งงบประมาณเพื่อชำระให้ก่อน ส่วนของเงินต้นจะใช้เงินจากกองทุนเพื่อการชำระต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ ซึ่งเงินของกองทุนดังกล่าวจะมาจาก 3 แหล่ง คือ
1) เงินกำไรสุทธิที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเป็นรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยในแต่ละปี จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบ
2) เงินรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในจำนวนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
3) ดอกผลของกองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากนำเงินไปชำระต้นเงินกู้ F1 หมดแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องนำส่งเงินเป็นรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของเงินกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบการในแต่ละปีมาชำระคืนในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้ใช้เงินงบประมาณชำระไปก่อนแล้วจนครบถ้วน
กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตร F1 เต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฯ โดยได้รับเงินสุทธิจำนวน 512,824 ล้านบาท
2. การเข้าค้ำประกันพันธบัตรกองทุนฯ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า "พันธบัตร F2")
ความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติมเนื่องจากการเข้าแก้ไ้ขปัญหาสถาบันการเงินที่ทางการเข้าแทรกแซง (มาตรการ 14 สิงหาคม 2541) การค้ำประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินที่ปิดกิจการเพิ่มเติม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 อนุมัติแนวทางการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนฯ โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ของกองทุนฯ เท่ากับตัวเลขเงินกองทุนติดลบ และตั้งงบประมาณเพื่อการชำระค่าดอกเบี้ยให้ ส่วนเงินต้นทางการจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป กระทรวงการคลังได้ค้ำประกันพันธบัตร F2 ที่กองทุนฯ ได้ออกไปเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 112,000 ล้านบาท
3. การตราพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า "พันธบัตร F3")
กองทุนฯ ได้ประมาณการภาระความเสียหายทั้งสิ้นเป็นจำนวน 1,401,450 ล้านบาท กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตร F1 ให้แล้ว กองทุนฯ ได้รับเงิน 512,824 ล้านบาท และได้ค้ำประกันพันธบัตร F2 อีก 112,000 ล้านบาท คงเหลือภาระอีก 776,626 ล้านบาท (1,401,450-512,824-112,000) กองทุนฯ ได้อาศัยแหล่งเงินส่วนใหญ่จากตลาดเงินซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น มีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสูง นอกจากนี้ พันธบัตร F2 จะเริ่มครบกำหนดชำระในปี 2546 เป็นต้นไป แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าแหล่งเงินทุนที่จะนำมาชำระเงินต้นจะมาจากแหล่งใด ในปี 2545 รัฐบาลจึงพิจารณาเห็นควรปรับโครงสร้างหนี้เป็นหนี้ระยะยาวและลดภาระดอกเบี้ยจ่ายให้ลดลง
รัฐบาลกำหนดวงเงินที่จะออกพันธบัตร F3 เพื่อชดเชยความเสียหายวงเงินไม่เกิน 780,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงชำระจากงบประมาณแผ่นดินเช่นเดียวกับพันธบัตร F1 ส่วนการชำระคืนต้นเงินของพันธบัตร F2 และพันธบัตร F3 ให้จัดสรรจากสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่มีผลทำให้สินทรัพย์ของทุนสำรองเงินตรา และสินทรัพย์ในบัญชีสำรองพิเศษลดน้อยลง
กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตร F3 ชดเชยความเสียหายให้กองทุนฯ 693,327 ล้านบาทจากวงเงินที่กำหนดไว้ 780,000 ล้านบาท คงเหลือวงเงินกู้อีก 86,673 ล้านบาท (กองทุนฯ ไม่ได้ขอชดเชยอีกเลยจนถึงปัจจุบัน)
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินตราต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำงบการเงินซึ่งต้องตีราคาเป็นเงินบาทก็จะิเกิดการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (ทั้ง ๆ ที่เงินตราต่างประเทศมีมูลค่าเท่าเดิม) งบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยก็แสดงผลการดำเนินงานขาดทุน เนื่องจากต้องประสบปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและยังมีต้นทุนดอกเบี้ยจากการดำเนินนโยบายการเงิน เป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยประสบผลขาดทุนไม่สามารถนำส่งกำไรเพื่อชำระต้นเงินพันธบัตร F1 และสินทรัพย์คงเหลือจากบัญชีผลประโยชน์ก็มีจำนวนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เป็นผลให้หนี้พันธบัตร F1 และ F3 คงค้าง 1.14 ล้านล้านบาท ในขณะที่กระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรจากงบประมาณประจำปีประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 รัฐบาลโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติให้ตราพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555 โดยให้เหตุผลว่า "เนื่องจากในปี พ.ศ. 2554 ได้เกิดวิกฤติการณ์อุทกภัยอย่างร้ายแรงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ เยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชน รวมทั้งดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ โดยการจัดให้มีการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น นอกจากนี้ ผลจากการเกิดความเสียหายนั้นยังทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเริ่มถดถอยและอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นของสาธารณะ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการฟื้นฟูประเทศทั้งการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย การป้องกันภัยพิบัติที่ใกล้จะถึง และการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพของประชาชนและผู้ลงทุน ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนหลายแนวทาง และแนวทางหนึ่งคือการต้องลดภาระงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่กู้มาเพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาวิกฤติของระบบสถาบันการเงินเมื่อปี 2540 โดยจำเป็นต้องปรับปรุงและจัดการระบบการชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวเสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลอีกต่อไป สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินมีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในส่วนที่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือจัดการและฟื้นฟูสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2540 และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว ตลอดจนปรับปรุงการจัดหาแหล่งเงินในการนำไปชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยเงินกู้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยยังคงหลักเกณฑ์และแหล่งเงินในการชำระคืนต้นเงินกู้ที่กำหนดไว้แต่เดิม พร้อมกับเพิ่มเติมการเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ภายใต้หลักการในการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ ซึ่งการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายไปสมทบกับเงินอื่นที่จะนำไปใช้ในการบูรณะ ฟื้นฟู และพัฒนาประเทศได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเสถียรภาพต่อระบบการเงินการคลังของประเทศโดยรวม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้"
สาระสำคัญของ พ.ร.ก.ที่กล่าวข้างต้น สรุปได้ดังนี้
1. ยอดหนี้พันธบัตรรัฐบาล 1.14 ล้านล้านบาทยังเป็นของภาครัฐ แต่ไม่ต้องตั้งงบประมาณจ่ายสำหรับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2. ภาระชำระคืนเงินต้นยังคงเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมาจากกำไรสุทธิและบัญชีผลประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา (ตามกฎหมายปี 2541 และ 2545) แต่เพิ่มเติมโดยให้ชำระจากเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนฯ ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนดและเงินนำส่งตามข้อ 3
3. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเป็นอัตราร้อยละต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด แต่เมื่อรวมกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 1 ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดก็ได้ แต่เมื่อรวมเงินนำส่งทั้งสองประเภทต้องไม่เกินร้อยละ 1 ของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชน
4. กฎหมายมอบหมายให้กองทุนฯ มีหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการชำระคืนต้นเงินกู้และการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลรักษาและจัดการเงินในบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนฯ รวมทั้งมีอำนาจสั่งจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวให้แก่กองทุนฯ เพื่อชำระต้นเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งค่าบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด
มกราคม-กันยายน 2555 กระทรวงการคลังชำระดอกเบี้ยของพันธบัตร F1 และพันธบัตร F3 จากงบประมาณประจำปี 2555
มกราคม-ธันวาคม 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทยทยอยโอนผลประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราเข้าบัญชีสะสมฯ เพื่อการชำระต้นเงินพันธบัตร F3 และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้นำเงินดังกล่าวทยอยชำระต้นเงินพันธบัตร F3 ในจำนวนเงินเดียวกัน
2 พฤษภาคม 2555 ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้ฯ พ.ศ. 2555 ประกาศกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราร้อยละ 0.46 ต่อปีจากยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครอง และยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน กำหนดนำส่งปีละ 2 ครั้งภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนกรกฎาคมในปีนั้น และภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนมกราคมในปีถัดไป เริ่มนำส่งงวดแรกภายในเดือนกรกฎาคม 2555