งานตรวจสอบกิจการภายใน

 

สนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารให้บรรลุวัตถุประสงค์และแผนกลยุทธ์ที่กำหนด ด้วยการให้ความมั่นใจและให้บริการในลักษณะที่ปรึกษาอย่างเป็นอิสระและเที่ยงธรรม โดยนำข้อกำหนดและวิธีการที่เป็นระบบมาใช้ในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิผลของ กระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

   

วัตถุประสงค์หลัก

 

วัตถุประสงค์หลักของงานตรวจสอบกิจการภายใน คือ สนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารให้ บรรลุวัตถุประสงค์และแผนกลยุทธ์ที่กำหนด ด้วยการให้ความมั่นใจและให้บริการในลักษณะที่ปรึกษา อย่างเป็นอิสระและเที่ยงธรรม ในแนวทางที่มุ่งการเพิ่มคุณค่าและการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มี ประสิทธิภาพ โดยนำข้อกำหนดและวิธีการที่เป็นระบบมาใช้ในการประเมิน และปรับปรุงประสิทธิผล ของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ความเป็นอิสระ

 

1) ให้ผู้ตรวจสอบภายในปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลว่าด้วยการปฏิบัติงานวิชาชีพ การตรวจสอบภายใน
2) งานด้านการตรวจสอบกิจการภายในให้ขึ้นตรงต่อ กตส. สำหรับงานด้านบริหารจัดการทั่วไป เสนอตรงต่อผู้ว่าการ
3) การพิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานและความดีความชอบของผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบกิจการภายใน ให้ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตรวจสอบกิจการภายใน เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงาน และเสนอคณะกรรมการบริหารบุคคลของธนาคารเพื่อพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

ขอบเขตการปฏิบัติงาน

 

1) ดำเนินการตรวจสอบตามแผนงาน โดยการสอบทานและประเมินกระบวนการบริหารความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน และการกำกับดูแลกิจการที่ดีของส่วนงานรับตรวจว่ามีความเหมาะสม และมีประสิทธิผล 
2) ดำเนินการตรวจสอบและปฏิบัติงานอื่น ๆ เป็นกรณีพิเศษตามความจำเป็น หรือตามที่ได้รับมอบหมายจาก กตส. หรือ ผู้ว่าการ
3) ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริหารของส่วนงานรับตรวจ 

หน้าที่ด้านการตรวจสอบกิจการภายในของสายตรวจสอบกิจการภายใน

 

1) จัดทำแผนงานตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบภายในเสนอผู้ว่าการ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นและข้อแนะนำก่อนเสนอ กตส. อนุมัติ 
2) ปฏิบัติงานตรวจสอบหรืองานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจาก กตส. หรือผู้ว่าการ และรายงานผลการตรวจสอบต่อ กตส. และผู้ว่าการ 
3) ให้คำปรึกษาแก่ส่วนงานรับตรวจ
4) จัดทำงบประมาณประจำปีด้านการตรวจสอบกิจการภายใน เสนอ กตส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ 
5) ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรของสายตรวจสอบกิจการภายใน ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานตามวิชาชีพตรวจสอบภายใน รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้มีวุฒิบัตรทางวิชาชีพ (Professional Certification) ตามมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน 
6) ประสานงานกับส่วนงานที่รับผิดชอบด้านกลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
7) ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลการปฏิบัติงานวิชาชีพการตรวจสอบภายใน

ขอบเขตอำนาจ

 

1) ให้สายตรวจสอบกิจการภายในได้รับแผนกลยุทธ์และแผนการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร และให้ผู้ตรวจสอบ ภายในมีอำนาจดำเนินการ ดังนี้ 
       (1) มีสิทธิเข้าถึงการปฏิบัติงาน สินทรัพย์ ข้อมูล และเอกสารหลักฐานของส่วนงานรับตรวจ เท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
       (2) จัดสรรทรัพยากร กำหนดความถี่ เนื้อหา ขอบเขตการปฏิบัติงาน และพิจารณาใช้เทคนิคต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อให้การปฏิบัติงานตรวจสอบภายในบรรลุวัตถุประสงค์
2) ให้ส่วนงานต่าง ๆ ของธนาคาร มีหน้าที่ให้ความร่วมมือ ดังนี้ 
       (1) อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบภายในและสนับสนุนด้านบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง
       (2) ชี้แจง ให้ข้อมูล และส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใด ๆ ในเรื่องที่ตรวจสอบที่จำเป็นและถูกต้องแก่ผู้ตรวจสอบ ภายในโดยมิชักช้า 
       (3) ยินยอมให้ผู้ตรวจสอบภายในเข้าตรวจสอบกระบวนการทำงานและการบริหารงานทั้งหมด
       (4) ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน ตามรายงานการตรวจสอบในเวลาอันควร และรายงานการดำเนินการแก้ไขให้สายตรวจสอบกิจการภายในรับทราบ
       (5) กรณีที่มีการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ หรือมีการเปลี่ยนแปลงระบบ วิธีการควบคุมที่สำคัญ ให้แจ้งสายตรวจสอบกิจการภายในทราบ
3) ให้การดำเนินการต่อไปนี้ไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสายตรวจสอบกิจการภายใน
       (1) การดำเนินการใด ๆ อันเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่งานประจำของส่วนงานอื่นในธนาคาร
       (2) การจัดทำหรืออนุมัติรายการทางการบัญชี และรายงานทางการเงิน
       (3) การสั่งการกับพนักงานในสังกัดส่วนงานอื่น เว้นแต่พนักงานนั้นได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการให้ร่วมในทีมผู้ตรวจสอบภายในหรือได้รับมอบหมายให้ช่วยงานผู้ตรวจสอบภายในหรือทีมผู้ตรวจสอบภายใน

ความรับผิดชอบต่อหน้าที่

 

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตรวจสอบกิจการภายใน มีหน้าที่รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้านการตรวจสอบกิจการภายใน ดังนี้
1) หน้าที่รับผิดชอบต่อ กตส. และผู้ว่าการ เสนอรายงานผลการตรวจสอบ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงต่อ กตส. และผู้ว่าการ 
2) หน้าที่รับผิดชอบต่อ กตส. และคณะกรรมการ ธปท. ดังนี้
       (1) เสนอข้อบังคับฯ ว่าด้วยการตรวจสอบกิจการภายใน ต่อ กตส. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการ ธปท. เพื่ออนุมัติ และให้มีการทบทวนข้อบังคับ อย่างน้อยปีละครั้ง 
       (2) ยืนยันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ต่อ กตส. อย่างน้อยปีละครั้ง