นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2459 ที่ตลาดน้อย กรุงเทพฯ บิดาชื่อ นายซา เป็นชาวจีนอพยพเข้าเมืองไทย มีอาชีพขายส่งปลา มารดาชื่อ นางเซาะเช็ง มีเชื้อไทย-จีน ครอบครัวนายซาและนางเซาะเช็ง มีบุตร 7 คน ชาย 5 คน และหญิง 2 คน นายป๋วยเป็นบุตรคนที่ 4
เมื่อนายป๋วยอายุ 10 ขวบ บิดาได้ถึงแก่กรรม จึงตกเป็นหน้าที่มารดาต้องเลี้ยงบุตรธิดาทั้งหมด นายป๋วย เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แผนกภาษาฝรั่งเศส ทำคะแนนได้ดีเยี่ยมในวิชาภาษาฝรั่งเศสและคณิตศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาในปี 2475 นายป๋วยได้รับเลือกเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ นายป๋วยเริ่มอาชีพครูเมื่ออายุ 17 ปี ได้รับเงินเดือน 40 บาท (เสมียนพนักงานที่รับราชการสมัยนั้นได้รับเงินเดือนขั้นต้น 15 บาท) นายป๋วยแบ่งให้มารดาเดือนละ 30 บาท และเก็บไว้ใช้ส่วนตัว 10 บาท
นายป๋วยเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง โดยยังเป็นครูอยู่และได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตปี 2480 จึงเริ่มอาชีพใหม่ โดยเป็นล่ามให้กับอาจารย์ฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2481 เมื่อนายป๋วยอายุ 23 ปี ได้สอบแข่งขันและได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อทางเศรษฐศาสตร์และการคลังที่ London School of Economics ของมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในปี 2484 ทำให้ได้รับทุน Leverhulme Studentship เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอกทันที
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นายป๋วย เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในประเทศอังกฤษ โดยอาสาสมัครเข้าทำงานใน British Army Pioneers Corps ทำงานติดต่อระหว่างไทยกับสัมพันธมิตรใช้ชื่อรหัสว่า "เข้ม" นายป๋วยเข้าประเทศไทยโดยกระโดดร่มลงที่ชัยนาทและถูกเจ้าหน้าที่จับกุมนำตัวส่งเข้ากรุงเทพฯ งานสำคัญครั้งนี้คือ การติดต่อส่งข่าวทางวิทยุให้ฝ่ายสัมพันธมิตร นายป๋วยได้ทำหน้าที่นี้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2488 จึงได้รับอนุญาตให้กลับอังกฤษและได้รับการเลื่อนยศเป็นนายพันตรีแห่งกองทัพอังกฤษ
ณ ประเทศอังกฤษ นายป๋วยได้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับการควบคุมดีบุก เริ่มเขียนปี 2489 และสอบปากเปล่าเสร็จปลายปี 2491 แต่มรสุมทางการเมืองทำให้เลื่อนเวลารับปริญญาเอกเป็นปี 2492 นายป๋วยได้แต่งงานกับนางสาวมาร์กาเร็ต สมิธ มีบุตรชายรวม 3 คน
นายป๋วยเข้ารับราชการในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในปี 2492 และดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของสภาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี 2496 เมื่อดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ได้ 7 เดือนเศษ เนื่องจากไม่ยอมดำเนินนโยบายลู่ตามลมจึงต้องออกจากตำแหน่งนี้ไป ในปี 2499 นายป๋วยต้องเผชิญกับอำนาจมืดและอิทธิพลทางการเมือง ทำให้ต้องจากประเทศไทยไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลังประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ ระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขายดีบุกและยางพาราแก่อังกฤษและประเทศยุโรปได้มากขึ้น เมื่อไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสภาดีบุกระหว่างประเทศ นายป๋วยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยและได้รับเลือกเป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศในปี 2501-2502
ปี 2501 นายป๋วยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลายปี 2502 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ในตำแหน่ง 12 ปี โดยได้ขอลาออกหลายครั้งหลายคราแต่ไม่ได้รับอนุมัติ นายป๋วยได้เสริมสร้างความมั่นคงให้เกิดแก่ระบบการธนาคารพาณิชย์ และสิ่งสำคัญกว่าอื่นใด คือ ได้ป้องกันนักการเมืองมิให้เข้าไปใช้อิทธิพลในการกำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2504 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ นายป๋วยยังดำรงตำแหน่งในหน่วยงานและคณะกรรมการที่สำคัญอีกหลายชุด ทำงานอุทิศตนให้แก่บ้านเมืองจนได้รับรางวัล รามอน แมกไซไซ ในปี 2508
นายป๋วยรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2507 ได้ปฏิรูปงานสำคัญ 2 ด้านคือ การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรี และการผลิตอาจารย์ ซึ่งเป็นผลให้จำนวนอาจารย์ประจำในคณะฯ ซึ่งมีเพียง 4 คน ในปี 2507 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 90 คน ในปีการศึกษา 2518 นอกจากนั้น ได้เริ่มหลักสูตรปริญญาโท ซึ่งสอนเป็นภาษาอังกฤษ และริเริ่มโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร
สิ่งที่นายป๋วยย้ำอยู่เสมอคือ ความเป็นธรรมในสังคม และเสรีภาพของประชาชน นายป๋วยต้องการเห็นเมืองไทยเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี และยึดหลัก "ธรรมคืออำนาจ" มิใช่ "อำนาจคือธรรม" ดังจะเห็นจากพฤติกรรมส่วนตัวและข้อเขียนในจดหมาย "นายเข้ม เย็นยิ่ง" และบันทึกประชาธรรมโดยสันติวิธีจากข้อเขียนนั้น ทำให้นายป๋วยต้องไปสอนหนังสือ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แต่ถึงกระนั้นเสียงข่มขู่เอาชีวิตก็ยังไปถึงประเทศอังกฤษ จึงได้ลาออกจากคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากระทรวงการคลังเมื่อเดือนสิงหาคม 2515 หลังตุลาคม 2516 นายป๋วยได้กลับมาเป็นอาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2518 ต่อมาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นายป๋วยได้เผชิญกับมรสุมทางการเมืองอีกครั้ง จึงไปพำนักอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จนถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคเส้นโลหิตในช่องท้องแตก เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 สิริรวมอายุได้ 84 ปี 4 เดือน 19 วัน