ดร.ธาริษา วัฒนเกส ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2549 ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นับแต่ปี 2518 ดร. ธาริษา มีส่วนรับผิดชอบหน้าที่งานหลักต่าง ๆ ของธนาคารกลาง ทั้งด้านงานวิจัยเศรษฐกิจ นโยบายและการกำกับดูแลภาคสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน ปฏิบัติการด้านตลาดเงิน การบริหารเงินทุนสำรอง และนโยบายการเงิน โดย ดร. ธาริษา เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินมาตั้งแต่ปี 2544 และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ
ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของ ดร. ธาริษา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คือ การพัฒนาระบบการชำระเงินให้ทันสมัยตั้งแต่เมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษก่อน ยังผลให้เกิดระบบการโอนเงินรายใหญ่ที่มีการปรับกระทบยอดหักบัญชีกันทันที (RTGS: Real-Time-Gross-Settlement) นับเป็นความริเริ่มที่มองการณ์ไกลซึ่งสามารถขจัดความเสี่ยงด้านการชำระเงินและหักบัญชี (Payment and Settlement Risks) เป็นระบบ RTGS ระบบแรกในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน โดยมุ่งลดการใช้ธนบัตรและเช็ค
หนึ่งเดือนหลังเกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 ดร. ธาริษา ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน รับผิดชอบการวางนโยบาย แนวทาง และมาตรการในการแก้ไขวิกฤต ตลอดจนปฏิรูปมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังได้ปฏิรูปกระบวนการกำกับดูแลและยกระดับทักษะของเจ้าหน้าที่กำกับตรวจสอบ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในระหว่างปี 2546 ถึง 2547 ดร. ธาริษา ดูแลการจัดทำแผนแม่บทภาคสถาบันการเงินและนำออกใช้ในเวลาต่อมา ซึ่งเปิดทางให้มีการจัดกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และลดจำนวนสถาบัน นำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคสถาบันการเงินมากขึ้นอีก ความสำเร็จในด้านการปฏิรูปและกำกับดูแลภาคสถาบันการเงินทำให้ ดร. ธาริษา ได้รับการยอมรับ และได้รับเชิญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้ร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญในการประเมินการกำกับดูแลของประเทศสมาชิก ตามโครงการประเมินระบบการกำกับดูแลภาคการเงิน(FSAP) ของIMF และธนาคารโลก
ดร. ธาริษา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีและโทด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University)ประเทศญี่ปุ่นและ เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน(Washington University, St.Louis) โดยนำการสร้างแบบจำลองเศรษฐมิติ (Macroeconometric Model) ที่เน้นภาคการเงินเป็นพิเศษ เขียนเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก นับเป็นผลงานแบบจำลองชิ้นหนึ่งในไม่กี่ชิ้นที่มีอยู่ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่แล้ว ในช่วงปี 2531 ถึง 2534 ดร. ธาริษา ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นเศรษฐกรที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในกรุงวอชิงตัน และในปี 2542 ได้เข้าเรียนหลักสูตรการบริหารระดับสูง (Advanced Management Program) ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
ดร. ธาริษา วัฒนเกส สมรสแล้ว มีธิดาหนึ่งคน งานอดิเรกคือ วาดภาพสีน้ำ และเล่นโยคะ