การปกป้องสภาพภูมิอากาศ
การปกป้องสภาพภูมิอากาศ
ธปท. นำความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าไปบูรณาการในแผนการดำเนินงานภายใน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศและลดผลกระทบจากการดำเนินการ โดยแผนงานครอบคลุม 3 ด้าน คือ ด้านกิจกรรมภายใน ด้านการบริหารเงินสำรอง และด้านการผลิตและกระจายธนบัตร
ด้านกิจกรรมภายใน
ธปท. ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30 ในปี 2573 (เทียบกับปีฐาน ปี 2560) เพื่อมุ่งหน้าสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยวางแผนบริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมครอบคลุมการใช้ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง ขยะ น้ำประปา กระดาษสำนักงาน ทั้งนี้ ได้เน้นความสำคัญของการใช้ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ ธปท. ที่สูงที่สุด
ในภาพรวม ธปท. ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงมากกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่พนักงานปฏิบัติงานที่บ้านในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด 19 และการปรับรูปแบบการทำงานแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้การทำงานจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ธปท. ยังคงตั้งเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินการ และผลักดันการลดใช้ทรัพยากรและสร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มสัดส่วนการใช้เทคโนโลยีสะอาดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ด้านการบริหารเงินสำรอง
ธปท. มีแนวทางการบริหารเงินสำรองที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยพิจารณาการดำเนินงานด้าน ESG ของผู้ร่วมตลาดประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ใน 2 ระดับ ได้แก่ การลงทุนในระดับประเทศ (top-down approach) และ การลงทุนในระดับรายบริษัท (bottom-up approach)
การลงทุนระดับประเทศ ธปท. พิจารณาปัจจัยด้านสังคมและธรรมาภิบาล ในการประเมินขีดความสามารถของแต่ละประเทศเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในขณะที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความสำคัญของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ทั้งนี้ การพิจารณาจะประเมินจากขีดความสามารถของประเทศต่อการรับมือทั้งความเสี่ยงเชิงกายภาพ (physical risk) และความเสียงช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition risk) โดยจะเน้นการลงทุนในประเทศที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับกองทุนและทำให้กองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การลงทุนระดับบริษัท ธปท. อยู่ระหว่างการศึกษาดัชนีอ้างอิงที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG อาทิ การพิจารณาตัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนโดยพิจารณาคะแนนด้าน ESG ของแต่ละบริษัทมาเป็นข้อกำหนดสัดส่วนการลงทุน นอกจากนี้ ธปท. ยังศึกษาการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรงตามหลัก Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติด้วย
ด้านการผลิตและกระจายธนบัตร
บทบาทหน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของ ธปท. คือการออกแบบ ผลิต และบริหารจัดการให้ธนบัตรสภาพดีกระจายสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งการผลิตธนบัตรเป็นกระบวนการทำใช้พลังงานและทรัพยากร และต้องมีการจัดการของเสีย ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการผลิตทีมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธนบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธปท. มีการพัฒนาธนบัตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2565 ได้ออกใช้ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาท ทดแทนธนบัตรกระดาษ ซึ่งธนบัตรพอลิเมอร์ผลิตจากวัสดุพลาสติกประเภท Biaxially Oriented Polypropylene (BOPP) ทำให้ทนทานต่อความชื้นและสิ่งสกปรก รวมถึงมีอายุการใช้งานนานกว่าธนบัตรกระดาษประมาณ 2.5 เท่า
การใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิต
ธปท. ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิตทรัพยากรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มใช้พลังงานจากระบบโซลาร์เซลล์แทนการใช้พลังงานไฟฟ้าบางส่วนตั้งแต่ปี 2563 และปัจจุบันได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทางเลือกถึงระดับสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดที่ 1 พันกิโลวัตต์ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 1 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างน้อยร้อยละ 9 ต่อปี