การกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

การกำกับดูแลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน

โดยขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงความเสี่ยง

1. การกำกับดูแล (Governance)

 

ธปท. มีโครงสร้างการกำกับดูแลนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างบูรณาการทั้งบทบาทตามพันธกิจและการดำเนินงานภายใน

Bank of Thailand

การกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามพันธกิจของ ธปท.

 

คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ซึ่งรวมถึงการวางแนวทางการพัฒนาภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถรับมือกับความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

 

การกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการดำเนินงานภายใน

 

• คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (กกธ.) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการและการดำเนินการของธปท. ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการภายในด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารเงินสำรองทางการ

 

• คณะกรรมการธรรมาภิบาล (CGC) ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นต่อภาพรวมแผนการบริหารจัดการและดำเนินงานภายในด้านสิ่งแวดล้อม

 

• คณะกรรมการบริหารจัดการ (คบจ.) ทำหน้าที่ เป็นคณะกรรมการภายใน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางแผนงานและดูภาพรวมการดำเนินงานภายในที่มีความเชื่อมโยงกัน

 

• คณะทำงานเพื่อความยั่งยืน (คณะทำงาน ESG) ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการภายใน สนับสนุนการทำหน้าที่ของ CGC และ คบจ.ในการพิจารณาและเสนอนโยบาย แนวทางและเป้าหมาย ตลอดจนแผนงานด้านความยั่งยืนของ ธปท.

 

การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related financial risks)

 

• คณะกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง (กคส.) ทำหน้าที่พิจารณา ติดตามและให้ความเห็นต่อแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนเสนอคณะกรรมการ ธปท. เห็นชอบ

 

• คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (คบส.) ทำหน้าที่ เป็นคณะกรรมการภายใน พิจารณาอนุมัตินโยบายและแนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงกรอบการบริหารเงินสำรองทางการระยะยาว โดยมีคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน (อสง.) และ คณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนเงินสำรองทางการ (อบท.) ทำหน้าที่สนับสนุนผ่านการเสนอและกลั่นกรองแนวทางบริหารความเสี่ยงและกลยุทธ์การลงทุนเงินสำรองทางการ

 

หมายเหตุ: คณะกรรมการธปท./ คณะกรรมการ กนส. / คณะกรรมการ กคส./ และคณะกรรมการ CGC ประกอบด้วยผู้บริหารของ ธปท. และกรรมการจากภายนอก

2. การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

 

ธปท. มีกระบวนการติดตามและบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งผลกระทบต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของ ธปท. (physical operations) และผลกระทบทางการเงินต่อการบริหารเงินสำรองทางการ  (financial operations) 

2.1 ความเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของ ธปท. (risks to physical operations)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจส่งผลกระทบต่อ อาคาร สถานที่ สำนักงานของ ธปท.

flood
flood

ธปท. จึงได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว โดยจัดให้มีระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCMS) ตามมาตรฐาน ISO 22301 รวมถึงมีการซักซ้อมแผนฉุกเฉินและความต่อเนื่องทางธุรกิจในสถานการณ์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

2.2 ความเสี่ยงต่อการบริหารเงินสำรองทางการของ ธปท. (risks to financial operations)

financialmgtrisk

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจส่งผลต่อมูลค่าสินทรัพย์ที่ ธปท. ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ธปท. จึงได้พัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างสำคัญเช่น

2.1.1 จัดทำ ESG internal report เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของกองทุนเงินสำรองทางการ เช่น ความเข้มข้นของคาร์บอนแบบเฉลี่ยน้ำหนัก (WACI) และ Implied Temperature Rise (ITR)

 

2.2.2 พัฒนา ESG Risk Monitoring Tool โดยใช้ข้อมูลด้าน ESG เพื่อประเมินผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และวิเคราะห์สัดส่วนการลงทุนระยะยาวของ ธปท. ซึ่งอาจนำไปสู่ negative screening ได้

 

2.2.3 จัดทำ Climate Scenario Test โดยประเมิน Climate Value-at-Risk ของเงินสำรองทางการผ่าน internal model ซึ่งแสดงถึงความเสี่ยงของสินทรัพย์และกองทุนเงินสำรองทางการภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ตามที่แนะนำโดย Network of Central Banks and Supervisors for Greening the Financial System (NGFS)

ในขณะเดียวกัน ธปท. เล็งเห็นถึงโอกาสในการมีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนผ่านการลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน สำหรับตราสารหนี้ ธปท. มีการลงทุนใน Impact Bond ภายใต้เกณฑ์การลงทุนเงินสำรองทางการ โดยพิจารณาจากผลตอบแทนต่อความเสี่ยงที่มีความคุ้มค่าเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเงินสำรองทางการ ในส่วนของตราสารทุน ธปท. ได้มีการศึกษาช่องทางและโอกาสในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่ความยั่งยืนในแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าการลงทุนในตราสารทุนโดยจัดตั้ง climate goal นั้นจำเป็นต้องพิจารณาควบคู่กับเกณฑ์ความเสี่ยงของ ธปท. ด้วย นอกจากนี้ ธปท. ให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนัก (ESG awareness) และการมีส่วนร่วม (engagement) ในฐานะเจ้าของสินทรัพย์ (asset owner) กับ stewardship โดยได้จัดทำ ESG proxy voting principle เพื่อใช้สื่อสารกับผู้จัดการกองทุนภายนอกให้เข้าใจถึงการให้ความสำคัญด้าน ESG ของ ธปท. รวมทั้งมีการใช้ปัจจัยด้าน ESG เพื่อใช้ติดตามและหารือกับผู้จัดการกองทุนภายนอกและคู่ค้าของเงินสำรองทางการ