คำถามพบบ่อย

เงินเฟ้อและกรอบเงินเฟ้อ

คำถาม-คำตอบ

ตอบ 

อัตราเงินเฟ้อ คือ ตัวเลขที่แสดงถึงราคาสินค้าในประเทศว่าแพงขึ้นขนาดไหน อัตราเงินเฟ้อที่สูงสะท้อนว่าค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ถ้าอัตราเงินเฟ้อผันผวน หมายถึง ราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วเกินไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการวางแผนลงทุนหรือตั้งราคาสินค้าได้ยากขึ้น หรือตั้งราคาสินค้าสูงขึ้นเผื่อไปเรื่อยๆ ทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์สูงเกินควร

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการสำหรับผู้บริโภค ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่น ๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การศึกษา ฯลฯ


อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการสำหรับผู้บริโภค ไม่รวมหมวดที่ราคาเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล หรือสินค้าที่ควบคุมราคาได้ยากหรือราคาขึ้น-ลงบ่อย ๆ เช่น พลังงาน อาหารสด

ตอบ 

การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนและผู้ประกอบการคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้บริโภค และส่งต่อไปยังอัตราเงินเฟ้อในอนาคตด้วย ตัวอย่างเช่น หากประชาชนคิดว่าในอนาคตสินค้าจะแพงขึ้น ก็จะพากันซื้อสินค้ากักตุนเอาไว้ เมื่อความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าก็จะปรับสูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

ตอบ

ธปท. มีหน้าที่ดูแลอัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อคาดการณ์ให้เหมาะสม ไม่ให้สูงหรือผันผวนเกินไป จนส่งผลกระทบกับประชาชนและภาคธุรกิจ และช่วยให้สามารถวางแผนการใช้จ่าย การลงทุน และการออมได้อย่างราบรื่น

การดูแลอัตราเงินเฟ้อจะดูเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคา ไม่ใช่ระดับราคา ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าเงินเฟ้อต่ำ ทำไมราคาสินค้ายังแพง นั่นเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อเป็นการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น ดูว่าราคาน้ำมันในปี 2567 เทียบกับราคาน้ำมันในปี 2566 เปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ แต่ระดับราคาอาจเพิ่มขึ้นสูงสะสมจากปีก่อน ๆ (เช่น ปี 2565 ที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.08 ซึ่งแปลว่าราคาสินค้าปรับขึ้นไปสูงตั้งแต่ช่วงนั้น และไม่ได้ลดลง) จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสินค้ายังราคาแพงต่อเนื่อง

ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวผัดปี 2565 จานละ 40 บาท ต่อมาปี 2566 ราคา 50 บาท ซึ่งหากคิดเป็นอัตราเงินเฟ้อของข้าวผัดในปี 2566 เทียบกับ 2565 จะอยู่ที่ 25% แต่หากปี 2567 ราคาข้าวผัดขยับเป็น 55 บาท อัตราเงินเฟ้อข้าวผัดปี 2567 จะเท่ากับ 10% ซึ่งต่ำกว่าปี 2566 แต่จะเห็นว่าราคาข้าวผัดยังสูงอยู่ที่ระดับ 55 บาท 

ตอบ

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นช่วง % ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (เช่น 1-3%) ที่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางจะใช้เป็นเป้าหมายในการดูแลระดับอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบนี้ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นลงเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบดังกล่าวอย่างเหมาะสม  ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับสูงขึ้น ทำให้คนคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลง (เพราะการใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง) ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมหรือการตัดสินใจในหลายเรื่อง เช่น ลดการต่อรองในการขึ้นค่าจ้าง หรือไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ หรือขึ้นราคาเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปปรับลดลงมาตามที่ต้องการได้ในที่สุด 

ปัจจุบัน ธปท. ใช้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น คือ ให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1-3%  ซึ่งเป็นกรอบที่ กนง. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันกำหนดให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

เป้าหมายแบบยืดหยุ่นอย่างช่วงนี้ จะเน้นดูแลเสถียรภาพของราคาควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจ อีกทั้งยังสามารถรองรับความผันผวนของเงินเฟ้อจากปัจจัยชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลกได้ เพราะเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานที่การปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลมีผลจำกัด    

กรอบเงินเฟ้อที่กำหนดไว้จึงเป็นเป้าหมายระยะปานกลาง โดยทั่วไปหมายถึง 3 – 5 ปี สะท้อนการคาดการณ์ของธุรกิจในการวางแผนการผลิตและตั้งราคาสินค้าและบริการได้ ซึ่งในบางช่วงเวลาเงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบ แต่ต้องมีแนวโน้มกลับเข้ามาในกรอบ ดังนั้น ในระยะสั้นอาจเห็นการหลุดกรอบของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้ตามปัจจัยชั่วคราว เช่น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันโลก ซึ่งจะสามารถคลี่คลายได้เอง หรือมีแนวโน้มกลับเข้ามาในกรอบ ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไม่มีลักษณะผันผวนจนเกินไป เพราะอาจกระทบต่อการคาดการณ์และการวางแผนทางธุรกิจ    

“เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ” แสดงว่าราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับที่คาดการณ์ และเป็นเรื่องปกติที่ เงินเฟ้ออาจออกนอกกรอบได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ตามปัจจัยชั่วคราวที่มีความผันผวนสูง ที่สำคัญไม่ได้หมายความว่าเมื่อทุกครั้งที่เงินเฟ้อสูงหรือต่ำกว่ากรอบแล้วจะต้องขึ้นหรือลดดอกเบี้ยทันที เพราะยังต้องดูปัจจัยอื่นด้วย อย่างเช่น การเติบโตเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือน

หากที่ผ่านมาหรือมองไปข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย (อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า) คณะกรรมการนโยบายการเงิน ต้องมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงสาเหตุของที่อัตราเงินเฟ้อออกนอกกรอบ ระยะเวลาที่คาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบ และแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม  และต้องดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้กลับเข้ามาในกรอบ รวมทั้งยังเผยแพร่หนังสือดังกล่าวทางเว็บไซต์ให้สาธารณชนทราบ