CBDC มีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องศึกษาและพัฒนา 

การสำรวจของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ซึ่งเป็นธนาคารสําหรับธนาคารกลางและสถาบันการเงินระหว่างประเทศในปี 2564 พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกสนใจศึกษา Retail CBDC มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาแตกต่างกัน สำหรับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือประเทศกำลังพัฒนา (Emerging markets: EMs) สนใจใช้ Retail CBDC เพื่อทดแทนหรือลดการใช้เงินสด เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินในประเทศ เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมชำระเงิน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินดิจิทัล ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว (Advance economies: AEs) ส่วนใหญ่สนใจใช้ Retail CBDC เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมชำระเงิน

สำหรับประเทศไทย ธปท. มองว่า Retail CBDC มีประโยชน์หลายด้าน ได้แก่

 

1. การเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ สามารถพัฒนาบริการทางการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบาย ทันสมัย และหลากหลายมากขึ้น โดย Retail CBDC สามารถเชื่อมต่อและใช้งานได้กับผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกันได้ (interoperability) ง่าย ซึ่งต่างจากรูปแบบระบบการเงินในปัจจุบันที่ยังคงมีอุปสรรคในการเชื่อมต่อและการพัฒนาบริการทางการเงินต่างๆ

 

2. การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกับนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ ของภาคเอกชนในอนาคต การพัฒนา Retail CBDC ยังมีการคำนึงถึงความสามารถของระบบเพื่อรองรับการสร้างเงื่อนไขในการทำธุรกรรมการเงิน เช่น การกำหนดเงื่อนไขการจ่าย CBDC ที่ผูกกับ Tokenized assets ต่างๆ หรือที่เรียกง่ายๆว่า “Programmable payment/money” ซึ่งทำให้มีช่องในการต่อยอดนวัตกรรมต่างๆ จากผู้ให้บริการทางการเงินที่ง่ายกว่ารูปแบบของเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันและอาจทำให้เกิดผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคต

 

3. การรักษาสมดุลระหว่างเงินของภาครัฐและเอกชน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมดิจิทัลอย่างรวดเร็วทำให้เงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน (private money) ในรูปแบบต่างๆ เข้ามามีบทบาทในกิจกรรมการเงินที่สูงขึ้น แม้เงินดิจิทัลภาคเอกชนจะสามารถตอบโจทย์กิจกรรมของภาคธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยและความเสี่ยง ดังนั้น CBDC จึงเป็นหนึ่งในช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินดิจิทัลของภาครัฐ (public money) ที่มีความปลอดภัย (Risk-free money) เพื่อรองรับกิจกรรมทางการเงินดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ 

 

          นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการเงินดิจิทัลโดยภาคเอกชน อาจทำให้เกิดการผูกขาดระบบการชำระเงินจากการพึ่งพาบริการการเงินภาคเอกชนรายใดรายหนึ่งมากเกินไปจนมีอิทธิพลเหนือระบบการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศได้ ดังนั้น การออก Retail CBDC เพื่อเป็นสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกโดยธนาคารกลาง จึงมีส่วนในการเพิ่มสมดุลระหว่าง private money และ public money ที่สำคัญคือ Retail CBDC ยังคงลักษณะของ public money ไว้ครบถ้วน ทั้งความมั่นใจได้ว่าปลอดภัย มีสภาพคล่องสูงสุด ช่วยรักษาเสถียรภาพเชิงระบบ รวมทั้งในยามวิกฤตก็สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (lender of last resort) เพื่อไม่ให้ตัวกลางทางการเงินขาดสภาพคล่องจนลุกลามเป็นความเสี่ยงในวงกว้าง