ความคืบหน้าและการพัฒนา CBDC ของไทยเป็นอย่างไร

ความเป็นมาของโครงการ CBDC ธปท.

ธปท. เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารกลางลำดับแรก ๆ ที่เล็งเห็นถึงกระแสดิจิทัลที่จะปฏิวัติรูปแบบการเงินในอนาคต และได้จัดทำแผนศึกษา ทดลอง และพัฒนานวัตกรรมการเงินในรูปแบบต่างๆ โดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานการเงินของประเทศ  โดยหนึ่งในงานสำคัญคือ การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรองรับ CBDC โดยเริ่มศึกษาภายใต้ชื่อ “โครงการอินทนนท์” ในปี 2561

โครงการอินทนนท์มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สำหรับใช้โอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) โดย ธปท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง นำเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในกิจกรรมดังกล่าว 

จากโครงการอินนนท์ที่เป็นรากฐานสำคัญ ธปท. พัฒนา CBDC อย่างต่อเนื่องและมีการต่อยอดเป็นหลายโครงการในปัจจุบัน ซี่งแบ่งออกเป็น

BOT 2 - 3

โครงการ mBridge: การพัฒนา Wholesale CBDC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ

โครงการ mBridge หรือ "Multiple-Central Bank Digital Currency Bridge" เป็นการพัฒนา Wholesale CDBC เพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยเป็นการศึกษาร่วมกับ ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ เมืองฮ่องกง  โครงการ mBridge เป็นการทดลองสร้างระบบที่สถาบันการเงินของแต่ละประเทศ สามารถเชื่อมต่อกันโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมงแบบไม่ต้องพึ่งพิงตัวกลาง (corresponding bank) และลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น settlement risk, credit risk และ operational risk ระบบนี้จะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาที เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบันซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน

ปัจจุบัน ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือด้านนโยบาย รูปแบบทางธุรกิจ เเละพัฒนาระบบ เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริงในอนาคต

BOT 2 - 7

Retail CBDC: การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชน

          ธปท. ได้พัฒนา Retail CBDC เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงและตอบสนองต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินภายใต้บริบทการเงินอนาคตที่เข้าสู่โลกดิิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยการพัฒนา Retail ของ CDBC นั้นสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ

อย่างไรก็ดี การพัฒนา retail CBDC อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการ ประชาชน ตลอดจนเสถียรภาพของระบบการเงิน ธปท. จึงดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชน อาทิ การออกรายงานและเปิดขอความเห็นเมื่อต้นปี 2564 และการทดลองในห้องปฏิบัติการร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ในปี 2563

         การพัฒนา Retail CBDC เป็นแผนระยะยาวที่ต้องมีดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สามารถรองรับบริบทการเงินดิจิทัลที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงต้องมั่นใจได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยศึกษาและทำความเข้าใจถึงรูปแบบ ความเสี่ยง รวมทั้งแนวทางการลดผลกระทบ หากจะออกใช้ retail CBDC เป็นวงกว้างต่อไปในอนาคต