ในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีภาคการเงิน หรือ ฟินเทค (FinTech) ได้เปลี่ยนโลกการเงินในหลายมิติ รวมทั้งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น และหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจ คือ Distributed Ledger Technology (DLT) หรือที่คนส่วนใหญ่มักเรียกว่า บล็อกเชน (Blockchain) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและถูกมองว่าอาจมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกการเงินในอนาคต ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินไทยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดังกล่าวที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินไทย จึงนำมาสู่โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นโครงการทดสอบการนำ DLT มาประยุกต์ใช้ในระบบโครงสร้างพื้นฐานของตลาดการเงิน

         

        แล้ว DLT คืออะไร? ถ้าแปลความแบบตรงตัวจะหมายถึง เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะเอื้อให้สมาชิกในเครือข่ายสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสานงาน และทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ รวมทั้งสามารถนำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องและชัดเจน 

 

เทคโนโลยี DLT กับการธนาคารกลาง

          คุณลักษณะของ DLT จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ภาคการเงินให้ความสนใจและเริ่มนำ DLT มาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างที่ได้ยินกันบ่อยคงหนีไม่พ้นสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่สามารถใช้โอนชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างผู้ใช้ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อีกทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินอื่น ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสนใจ และเล็งเห็นศักยภาพของการนำ DLT มาประยุกต์ใช้ในงานธนาคารกลาง อาทิ Project LionRock ของธนาคารกลางฮ่องกง และ Project Ubin ของธนาคารกลางสิงคโปร์ ที่ทดสอบการโอนสกุลเงินดิจิทัลระหว่าง ผู้เล่นรายใหญ่ในรูปแบบต่าง ๆ

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักดีว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีพัฒนาการที่รวดเร็ว จากที่เคยมีข้อจำกัดด้านต้นทุนสูง และความซับซ้อนที่อาจยากต่อการนำมาใช้ แต่ในระยะหลังเห็นได้ว่า ภาคเอกชนเริ่มนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านการเงินเป็นวงกว้าง ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้เรื่อง DLT ของ ธปท. สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินและการชำระเงินอื่น ๆ ในประเทศไทย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการร่วมกันเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถพัฒนาต่อยอดและก้าวตามประเทศชั้นนำได้อย่างทัดเทียมและเท่าทัน

 

โครงการอินทนนท์คืออะไร?

          โครงการอินทนนท์เป็นหนึ่งในโครงการที่ ธปท. ริเริ่มขึ้น โดยร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) ในการทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ DLT กับระบบการชำระเงินของประเทศ ในลักษณะ "ลองเพื่อรู้ ดูว่าทำได้" (Proof of Concept)1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ ธปท. และสถาบันการเงินมีความเข้าใจและเท่าทันเทคโนโลยี ผ่านการลงมือพัฒนาและจำลองระบบต้นแบบ โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสถาบันการเงินและ ธปท. ได้ร่วมกันออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) รวมทั้งยังให้นักพัฒนาระบบ (System Developer) จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการร่วมกันพัฒนาระบบการชำระเงินต้นแบบเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาระบบการเงินของไทยในอนาคต

 

ขอบเขตของโครงการอินทนนท์

          ระยะที่ 1 สร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยใช้ DLT ในการรองรับการโอนเงินในประเทศระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากการแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท. (Reserve) ให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบกลไกการให้สภาพคล่องแก่สถาบันการเงินระหว่างวันแบบอัตโนมัติ (Automated Liquidity Provision) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ระบบการชำระเงินทำงานได้โดยไม่ติดขัด โดยโครงการในระยะที่ 1 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2562 และได้เผยแพร่รายงานสรุปโครงการอินทนนท์ระยะที่ 1 ต่อสาธารณชนเรียบร้อยแล้ว

          ระยะที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถของระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยต่อยอดจากโครงการในระยะที่ 1 ให้ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จาก Smart Contract มาจำลองวงจรชีวิตของพันธบัตร ตั้งแต่การแปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูป Token การส่งมอบพันธบัตรและชำระเงินค่าพันธบัตรในเวลาเดียวกัน (Delivery Versus Payment: DVP) การจ่ายดอกเบี้ย จนถึงการจ่ายคืนเงินต้นในวันที่พันธบัตรครบกำหนด รวมทั้งออกแบบระบบให้รองรับการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง หรือนำพันธบัตรมาใช้เป็นหลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement) ซึ่งการต่อยอดดังกล่าวจะช่วยให้ระบบต้นแบบรองรับธุรกรรมที่ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้ ระบบต้นแบบในระยะที่ 2 นี้ยังมีกลไกที่ช่วยตรวจสอบข้อมูล เพื่อช่วยป้องกันธุรกรรมการชำระเงินที่ต้องสงสัย (Fraud Prevention) รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดกระบวนการของสถาบันการเงินในการปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท. ซึ่งโครงการในระยะที่ 2 คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2562

          ระยะที่ 3 เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตไปสู่การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงิน โดยมุ่งหวังที่จะลดกระบวนการในปัจจุบันที่ต้องทำผ่านตัวกลางหลายราย และพัฒนาไปสู่การโอนและชำระเงินโดยตรงถึงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความรวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง แต่ยังคงมีความปลอดภัยสูง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการระยะที่ 3 ได้ภายในไตรมาส 3 ปี 2562

 

ความคืบหน้าของโครงการอินทนนท์

          ปัจจุบัน โครงการอินทนนท์อยู่ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ 2 และนับว่าประสบความสำเร็จจากการสร้างระบบต้นแบบที่พิสูจน์ได้ว่า เราสามารถนำ DLT มาใช้งานและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินได้ แม้ว่าปัจจุบันจะยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่ถือว่า เป็นการปูทางไปสู่ระบบนิเวศทางการเงินโฉมใหม่ของไทยในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางของระบบการเงินโดยใช้ CBDC นอกจากนี้ การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ร่วมตลาดกลุ่มเล็ก ๆ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ DLT ที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายไปสู่ภาคการเงินได้ในวงกว้าง จุดสำคัญของโครงการอินทนนท์อีกประการหนึ่ง คือ โครงการนี้ไม่ได้เป็นผลจากความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นชิ้นงานที่คิดและทำร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและทางการซึ่งช่วยให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงความต้องการของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน เพื่อคิดหาทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

 

เป้าหมายของโครงการอินทนนท์

          เป้าหมายสูงสุดของโครงการอินทนนท์ไม่จำกัดแค่การพัฒนาระบบต้นแบบอยู่ในห้องทดลองเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หาก DLT ได้รับการพัฒนาไปถึงระดับที่สามารถนำมาใช้ขยายออกไปในวงกว้างด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ระบบต้นแบบที่ร่วมกันพัฒนาภายใต้โครงการอินทนนท์นี้ จะถือเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่นำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน ทั้งในแง่ของความเร็วและความสะดวกที่จะมีเพิ่มขึ้น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายจะต่ำลง ช่วยลดข้อผิดพลาดจากการดำเนินธุรกรรมหลายขั้นตอนและเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบติดตามที่ดีขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมต่อการบริการทางการเงินระหว่างไทยและโลกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น สามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินครบวงจรได้แบบ Anywhere Anytime และ Seamless มีความปลอดภัยสูง สอดรับกับชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง

[1]  Proof of Concept เป็นการทดสอบความเป็นไปได้ในการนำDLT มาประยุกต์ใช้กับระบบต้นแบบที่พัฒนาขึ้นว่าสามารถทำงานได้อย่างถูกต้อง และได้ผลลัพธ์ตรงกับความต้องการหรือไม่