.
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 แบงค์ชาติจัดงานเสวนาด้านฟินเทค “Bridging Visions: FinTech from Policy to Impact” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองการพัฒนานวัตกรรมการเงินระหว่าง ธปท. ผู้ให้บริการทางการเงิน และบริษัทฟินเทค รวมถึงเป็นการสื่อสารแนวนโยบายในการผลักดันนวัตกรรมการเงินในอนาคต สำหรับงานเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Building Financial Innovation: AI Solutions in Financial Sector โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและสร้างระบบนิเวศสำหรับการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในภาคการเงิน โดยเน้นบทบาทของทุกภาคส่วนทั้งสถาบันการเงินและทั้งที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ในการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการนำ AI มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และยั่งยืน
งานเสวนาครั้งนี้เริ่มต้นด้วยการปาฐกถาของ ดร. ดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ซึ่งกล่าวถึงแนวคิด 3 O ในการส่งเสริมนวัตกรรมการเงิน ได้แก่ Open Infrastructure Open Competition และ Open data ซึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมโดยใช้ AI ควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงควบคู่กัน โดยเฉพาะความเสี่ยงในด้าน Exclusion หมายถึงกลุ่มคนเปราะบางรวมถึง SME ที่ขาด digital-footprint อาจจะเข้าไม่ถึงประโยชน์ของ AI และความเสี่ยงด้าน Fraud และ Consumer Protection เช่น ปัญหา Deep Fake ที่นำ AI มาใช้ในการสร้างข้อมูลเท็จในระบบเศรษฐกิจ การหลอกลวงให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงในเรื่องของ AI-enable Cyber Attack เป็นต้น นอกจากนี้ ธปท. จะส่งเสริมทำงานร่วมกันมากขึ้นในภาคการเงิน ในลักษณะของ public-private collaboration โดยเฉพาะการสนับสนุน “Responsible AI innovation” ซึ่ง ธปท. ได้จัดตั้งคณะทำงาน AI Working Group ร่วมกับตัวแทนสมาชิกจากธนาคารและผู้ให้บริการระบบชำระเงินที่มีความสนใจด้าน AI เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้าน AI ระหว่างกัน
ถัดมาเป็น Panel discussion จากผู้เชี่ยวชาญในวงการฟินเทค ได้แก่ ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ (ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์, KBTG) คุณชลเดช เขมะรัตนา (นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย) และ ดร.พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ (ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.) ซึ่งทั้งสามท่านได้มาแลกเปลี่ยนแนวคิดการผลักดัน AI ในภาคการเงินของไทย
โดย ดร.มนต์ชัย กล่าวถึงการเริ่มต้นนำ AI มาใช้ควรเริ่มต้นจากการระบุ pain point ในปัจจุบันที่ AI จะสามารถนำมาช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ควรเริ่มจากการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวตั้ง รวมถึงการนำ AI มาใช้จะต้องมี control process ที่ดีและรัดกุม นอกจากนี้ AI จะมีความสามารถในมุมการเสริม potential ของบุคลากรให้เก่งขึ้น ซึ่งบุคลากรเองจำเป็นต้องปรับตัวและเรียนรู้ควบคู่กันไป
คุณชลเดช กล่าวว่า AI จะสามารถเพิ่ม productivity ในการทำงานได้หลายด้าน แต่การนำ AI มาใช้จำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสมของผลลัพธ์ที่ได้มาด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องความเสี่ยงที่แฝงมากับการใช้ AI ในทางที่ผิดนั้น จะมีลักษณะที่เหมือนกับกรณีข่าวปลอมใน social media ที่ผ่านมา ซึ่งเราจำเป็นต้องเรียนรู้และต้องมี immunity เพื่อให้มีความรู้เท่าทันความเสี่ยง
ดร.พรรคธาดา กล่าวว่า ธปท. อยากเห็นการนำ AI มาช่วยเพิ่ม efficiency และ inclusivity ในภาคการเงิน ซึ่ง ธปท. อยากส่งเสริมการสร้าง Responsible AI ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดสิ่งที่อยากเห็นจาก AI และพัฒนาไปตามแนวทางที่ควร เพื่อไม่ให้เกิดการพัฒนา AI ในผิดทาง ซึ่ง ธปท. ต้องการส่งเสริม AI ecosystems เพื่อให้เกิด collaboration และ innovation ในภาคการเงิน นอกจากนี้ Generative AI ยังอยู่ในช่วง early stage ซึ่งยังมีความกังวลเรื่องกลัวความเสี่ยง AI hallucination ดังนั้น การนำ Generative AI มาใช้อาจจะเริ่มจากการทดลอง หรือทดสอบจาก use case ที่มีความเสี่ยงน้อย ๆ ก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทาง ธปท. ใช้ในการส่งเสริม Fintech อยู่แล้ว เช่น การใช้กลไก Regulatory Sandbox เพื่อใช้ในเป็นพื้นที่ในการทดสอบและเรียนรู้ ดังนั้น เราต้องสร้างความสมดุลระหว่าง innovation กับการดูแลความเสี่ยงให้เหมาะสม
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการสาธิตการประยุกต์ใช้ AI Solution ในการให้บริการต่าง ๆ ครอบคลุมเรื่อง Process Automation, Fraud Detection, Access to Finance, Environment ดังนี้
Krungsri Finnovate x fileAI by Ms. Clare Leighton (Co-founder and COO)
Pain point การจัดการเอกสารด้วยกระบวนการ manual ทำให้ต้องใช้เวลา และมีต้นทุน มีโอกาสเกิดข้อผิดพลาด
บริษัทเสนอ AI solution สำหรับจัดการเอกสารแบบ automate ในกรบะวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Accounting, Banking, Procurement, Logistic ซึ่งช่วยให้ลดเวลา ลดต้นทุน เช่น การใช้เทคโนโลยี OCR และ RPA
Advance Intelligence Group by Mr. Dennis Martin (CEO of Advance.AI)
Pain point ความเสี่ยงด้าน Cyber risk จากการเพิ่มขึ้นของการโจมตีแบบ Deepfake ที่สร้างโดย AI
บริษัทเสนอ AI solution สำหรับการตรวจจับ Liveness แบบหลายชั้นเพื่อต่อต้านภัยคุกคาม Deepfake โดยระบบช่วยวิเคราะห์ทั้ง Device Insights, Behavior analysis และ 3D liveness
ListenField – Environment by Mr. Pluemkhun Bualuang (Business Development Manager)
Pain point คือ เกษตรกรเข้าถึงศูนย์วิจัยที่สามารถตรวจสอบดินได้ยาก ทำให้ขาดข้อมูลในการปรับปรุงประสิทธิภาพดินให้มีความเหมาะสมสำหรับการเกษตร
บริษัทเสนอ AI ในการวิเคราะห์พื้นที่และผลผลิตทางการเกษตร โดยใช้ข้อมูลจากเซนเซอร์และดาวเทียมเพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนการปลูกพืชและบริหารจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมี application บันทึกข้อมูลที่ดินทางการเกษตรต่าง ๆ ของเกษตรกร เพื่อช่วยในการติดตามการเติบโตของผลผลิต
ViaLink by Mr. Atikhun Unahalekhaka (Co-Founder, Head of Product)
Pain point คือ Commerce data มีความซับซ้อน พนักงานมี Operation ในการจัดการข้อมูลค่อนข้างเยอะ
บริษัท AI solution เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการดำเนินงาน เช่น การพยากรณ์ความต้องการ การวิเคราะห์การขาย และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งช่วยให้ธุรกิจลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต