ช่วงเวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็น
23 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2567
วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ในช่วงเวลาหรือสถานการณ์ที่เหมาะสม หรือจัดทำวิธีการและขั้นตอนปฏิบัติในรูปแบบคู่มือสำหรับประชาชนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อที่สถาบันการเงินและผู้เกี่ยวข้องจะสามารถปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ได้อย่างถูกต้อง
โดยที่มาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ) กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องออกหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายต่าง ๆ กำหนดไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายได้ และ ธปท. ได้มีหนังสือขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สคก. มีความเห็นว่า การออกหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้ภาคเอกชนสามารถรับรู้หน้าที่และปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง อันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงเข้าข่ายต้องเร่งรัดการออกหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว นั้น
ในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. เห็นสมควรที่จะออกหลักเกณฑ์เพิ่มเติมภายใต้มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 13 มาตรา 74 มาตรา 78 และมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เพื่อให้แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นไปตามความมุ่งหมายของ พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ และจัดทำ Consultation Paper ฉบับนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ออกตามมาตราดังกล่าวใน 7 เรื่อง ได้แก่
1. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
2. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ
3. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งหรือการย้ายสำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงิน
4. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้ง การย้าย หรือการเลิกสาขาของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
5. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาการควบ โอน หรือรับโอนกิจการของสถาบันการเงิน
6. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเลิกประกอบกิจการหรือการหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวของสถาบันการเงิน
7. หลักเกณฑ์เกี่ยวกับปริมาณการประกอบธุรกิจที่สถาบันการเงินพึงประกอบตามปกติ