* ธปท.จะเก็บรักษาความลับและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์เท่านั้น ทุกความคิดเห็นที่มีต่อร่างดังกล่าวจะไม่มีผลทางกฎหมาย *
แนวนโยบายการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Data for Consumer Empowerment)
-264 วัน
30 พฤศจิกายน - 31 ธันวาคม 2566
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (แนวนโยบาย Financial Landscape) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา นั้น ภายใต้ทิศทางด้านการเงินดิจิทัล ธปท. มุ่งหวังให้ภาคการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีขึ้นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม (responsible innovation) โดยยึด 3 หลักการสำคัญ ได้แก่ เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรม (Open Infrastructure) เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data) และเปิดกว้างในการแข่งขันให้ผู้เล่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ (Open Competition) ซึ่งที่ผ่านมามีความคืบหน้าหลายเรื่อง เช่น การเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR payment กับ 6 ประเทศในอาเซียน การทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) และการออกร่างหลักเกณฑ์ให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank)
ภายใต้หลักการดังกล่าว หนึ่งในทิศทางสำคัญที่ ธปท. จะผลักดันในระยะต่อไป คือ การเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Data for Consumer Empowerment) โดยสร้างกลไกที่เอื้อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนที่มีอยู่กับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสมัครหรือใช้บริการกับผู้เล่นรายอื่นได้สะดวกและปลอดภัย และผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญ ด้วยการเชื่อมต่อและกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนการดำเนินการ เอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ในการนี้ ธปท. จึงได้จัดทำเอกสารรับฟังความคิดเห็น (consultation paper) เรื่องแนวนโยบายการสร้างกลไกให้เกิด Open Data for Consumer Empowerment ในภาคการเงินที่ ธปท. สามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบกฎหมายปัจจุบัน และพร้อมต่อยอดในระดับประเทศ โดยมีทิศทางการดำเนินการดังนี้
(1) ออกเกณฑ์ กำหนดข้อตกลง และสร้างแรงจูงใจ (regulations and incentives) โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท. มีกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิในการเรียกใช้หรือส่งข้อมูลของตนระหว่างผู้ให้บริการในภาคการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและปลอดภัย และพิจารณาเปิดให้ผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้กำกับของ ธปท. ให้บริการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ตามความยินยอมของลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาบริการใหม่ ๆ มานำเสนอลูกค้า รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากลไกในลักษณะเดียวกันเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคการเงิน
(2) กำหนดมาตรฐานกลางในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ (common standard) ผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงมีการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบผู้ให้บริการที่จะเข้าร่วมโครงการให้มั่นใจว่าสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานกลางที่กำหนดได้ เพื่อให้การเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความปลอดภัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ช่วยลดต้นทุนและความซ้ำซ้อนในการพัฒนามาตรฐาน
(3) พิจารณาประโยชน์และความจำเป็นในการมีโครงสร้างพื้นฐานกลางหรือกระบวนการมาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน (common infrastructure/shared service) เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถเชื่อมต่อหรือใช้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหลายที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีกระบวนการการพิสูจน์ยืนยันตัวตนลูกค้านิติบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นมาตรฐานและใช้ในการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้ เช่น ระบบชำระเงิน
ทั้งนี้ เพื่อให้การออกแบบนโยบายและขับเคลื่อนกลไก Open Data for Consumer Empowerment ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศอย่างแท้จริง ธปท. จึงขอเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยสามารถส่งความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือ ทางอีเมล opendata-fsd@bot.or.th เพื่อที่ ธปท. จะได้นำไปประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการดำเนินการต่อไป
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
อีเมล opendata-fsd@bot.or.th
โทรศัพท์ 0 2356 7468, 0 2283 6409
* ธปท.จะเก็บรักษาความลับและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์เท่านั้น ทุกความคิดเห็นที่มีต่อร่างดังกล่าวจะไม่มีผลทางกฎหมาย *