ผลกระทบของโควิด 19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย

​Media Briefing | 15 มกราคม 2564

 

วันที่ 15 มกราคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค พูดคุยและตอบข้อซักถามกับสื่อมวลชน หัวข้อ : ผลกระทบของโควิด 19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย

 

ผลที่ได้จากการ
ฉีดวัคซีน

  • สถานการณ์ความรุนแรงและความยืดเยื้อของ การระบาดระลอกที่ 3
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพิ่มเติม
  • การจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Semtiment การใช้จ่ายภายในประเทศและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ถ่ายรูปในงาน​​ Media Briefing : ผลกระทบของโควิด 19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย

ธปท. คาดโควิด 19 ระลอกใหม่แม้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เท่าระลอกแรก แต่ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางยังมีความจำเป็นเร่งด่วน

ธปท. คาดการณ์ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ไม่รุนแรงเท่าการระบาดระลอกแรกจากการมีบทเรียนและการปรับตัวของทุกภาคส่วน พร้อมเน้นย้ำมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต้องทันการณ์และตรงจุด

 

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ในไทย ที่แม้จะกระจายเป็นวงกว้างและเร็วกว่าการระบาดระลอกแรก แต่พบว่าความรุนแรงของโรคน้อยกว่า ขณะที่ความพร้อมด้านสาธารณสุขมีมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาการของวัคซีนและแผนการได้รับวัคซีนของไทยเริ่มมีความชัดเจน ทำให้ ธปท. คาดการณ์ผลกระทบจากของการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงเท่าการระบาดระลอกแรก สะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงน้อยกว่า นอกจากนี้ภาครัฐมีมาตรควบคุมการแพร่ระบาดในครั้งนี้เข้มงวดน้อยกว่า และภาคการส่งออกสินค้าที่ยังขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวในระยะต่อไปจะต่างกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มแรงงาน โดยพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 28 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมสัดส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจสูงเกินครึ่งของประเทศจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ด้านกลุ่มธุรกิจจะมีกลุ่มที่เปราะบางเพิ่มเติมจากรายได้ที่ลดลงในช่วงนี้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจภาคบริการ นอกจากนี้ บางกลุ่มที่มีฐานะการเงินอ่อนแออยู่ก่อนแล้ว เช่น ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเติม ส่วนผลกระทบด้านแรงงาน คาดว่ากลุ่มแรงงานในพื้นที่สีแดงที่มีมาตรการการควบคุมเข้มงวด มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 4.7 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวันและผู้มีอาชีพอิสระ ที่จะมีชั่วโมงการทำงานลดลงและมีรายได้ลดลงมาก

         

ในระยะข้างหน้า แนวโน้มเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน โดยมีปัจจัยมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 การกระจายวัคซีนในไทยและแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงมาตรการภาครัฐที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจ อีกทั้งในปัจจุบัน หลายภาคธุรกิจและครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากการระบาดระลอกแรก ทำให้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจน้อยลง ดังนั้น การช่วยเหลือภาคธุรกิจและแรงงานอย่างทันการณ์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และต้องเน้นการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางให้ทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด ซึ่งภาครัฐได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึง ธปท. ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว