แนวนโยบายกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Stablecoins

​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 16/2564 | 19 มีนาคม 2564

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้เข้ามามีบทบาทสนับสนุนบริการทางการเงินยุคใหม่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยี Blockchain หรือ Distributed Ledger Technology (DLT) มาใช้ในภาคการเงิน ตลอดจนนำมาซึ่งการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลรวมถึงคริปโทเคอร์เรนซีหลากหลายประเภท เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือลงทุนในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล

 

ที่ผ่านมา มีการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีที่รู้จักกันในชื่อ "Stablecoin" โดยอิงมูลค่ากับสินทรัพย์หรือเงินตราเพื่อให้มูลค่าผันผวนน้อยลง ซึ่งมีอยู่หลายประเภท บางประเภทอาจเข้าข่ายการนำมาใช้ทดแทนเงินบาทในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและความมั่นคงของระบบเงินตราของประเทศ ขณะที่บางประเภทมีศักยภาพในการนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงการนำไปใช้เพื่อต่อยอดบริการทางการเงินต่าง ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงมีแนวนโยบายกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ Stablecoin แต่ละประเภท ดังนี้

 

1. Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) เป็นคริปโทเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่พยายามลดความผันผวนโดยผูกมูลค่ากับเงินบาท และนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ซึ่งอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ที่ ธปท. กำกับดูแลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการชำระราคา ด้านการฟอกเงิน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จึงขอให้ผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ 

 

ทั้งนี้ นโยบายการกำกับดูแล Stablecoin ดังกล่าว สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลในหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เป็นต้น 

 

2. Stablecoin ประเภทอื่น ได้แก่ ประเภทที่มีเงินตราต่างประเทศหนุนหลัง (FX-backed Stablecoin) หรือมีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่น ๆ หนุนหลัง (Asset-backed Stablecoin) หรือประเภทที่ใช้กลไกอื่น ๆ เพื่อประมวลผลให้สามารถคงมูลค่าได้แม้ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Algorithmic Stablecoin) ที่มิได้เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่ง ธปท. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไป

 

ทั้งนี้ ธปท. เห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีและพร้อมเปิดรับนวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการในภาคการเงิน ซึ่งขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลระดับประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) ให้มีความปลอดภัย ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชน และภาคธุรกิจสามารถนำไปต่อยอดเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ได้ รวมทั้ง ธปท. จะยังติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด โดยพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
19 มีนาคม 2564

คำถาม - คำตอบ แนวนโยบายกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีประเภท Stablecoins

Q1: จากข่าว ธปท. ที่ระบุว่า THT ซึ่งเป็น Algorithmic stablecoin ผิดกฎหมาย ในส่วนของนักลงทุนจะทราบได้อย่างไรว่า มี Algorithmic stablecoin ใดอีกบ้าง ที่ผิดกฎหมาย

 

A1: ธปท. พิจารณาว่า THT ซึ่งเป็น Algorithmic stablecoin ผิดกฎหมาย เนื่องจาก THT มีการกำหนดหน่วยแสดงค่าเป็นบาท และกำหนดมูลค่าให้ 1 เหรียญเท่ากับ 1 บาท ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่พิจารณาได้ว่า THT ถูกทำขึ้นมาเพื่อให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แทนเงินบาทซึ่งออกโดย ธปท.

 

ดังนั้น THT จึงเข้าข่ายเป็นวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งการทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำ THT ออกใช้ ย่อมผิดกฎหมายมาตรา 9 พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501

 

ทั้งนี้ หากมี Algorithmic stablecoin อื่น ๆ ที่มีลักษณะและมีปัจจัยที่แสดงให้เห็นพฤติการณ์ที่จะนำมาใช้แทนเงินบาทและทำให้เกิดการแบ่งแยกระบบเงินตราของประเทศไทยออกไปมากกว่าหนึ่งระบบในทำนองเดียวกันกับ THT ก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายข้างต้นเช่นเดียวกัน

 

ในส่วนของนักลงทุนนั้น ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการเกี่ยวกับ stablecoin ประเภทนี้ โดยควรทำธุรกรรมกับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก กลต. หรือทำการซื้อหรือขาย cryptocurrency ที่ปรากฎใน exchange ที่ได้รับอนุญาตจาก กลต. เท่านั้น

 

Q2: ทำไม Terra ถึงเลือกอ้างอิงมูลค่ากับสกุลเงินบาท ทั้ง ๆ ที่มีเงินตราอีกหลากหลายสกุลในโลก

 

A2: ทาง Terra มีการอ้างอิงหลายสกุลเงิน ไม่ใช่แค่อ้างอิงเฉพาะสกุลเงินบาท อย่างไรก็ตาม ธปท. ห่วงใยสำหรับเหรียญที่นำมาใช้ทดแทนเงินบาท เนื่องจากอยู่ในขอบเขตการกำกับดูแลของ ธปท. และอยู่ในในมิติของการคุ้มครองประชาชนที่ ธปท. ให้ความสำคัญ

 

Q3: สำหรับเหรียญที่มีเงินหนุนหลัง ธปท. จะกำกับอย่างไร

 

A3: ผู้ประกอบธุรกิจที่จะออกเหรียญมาใช้เป็นสื่อในการชำระเงิน จะต้องเข้ามาหารือ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ ซึ่งก็จะมีการหารือกันในรายละเอียดและกำหนดแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม เช่น สำหรับ Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ซึ่งอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 ธปท. จะกำกับดูแลลักษณะเดียวกับ e-Money และกำกับความเสี่ยงที่เพิ่มเติมในมิติต่างๆ ได้แก่ ด้านการชำระราคา ด้านการฟอกเงิน ด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และด้านการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เป็นต้น

 

Q4: ปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการมาหารือ ธปท. ในการออกเหรียญทำคริปโทเคอร์เรนซีบ้างหรือไม่ จำนวนกี่ราย เป็นการออกเหรียญในลักษณะใด

 

A4: มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาหารือหลายราย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงปรับรูปแบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำกับดูแล ในขณะที่ ธปท. ได้ติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในภาคการเงินอย่างใกล้ชิด พิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ

 

Q5: Stablecoin แตกต่างกับ e-Money อย่างไร และจะมีประโยชน์มากกว่า e-Money อย่างไร

 

A5: มีความแตกต่างในกลไกที่อยู่เบื้องหลังของ Stablecoins ที่แตกต่างจาก e-Money เช่น Stablecoin สามารถใส่  smart contract ที่ทำให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมและการให้บริการทางการเงินได้

 

Q6: เกณฑ์การกำกับดูแล Stablecoin จะออกได้เมื่อไหร่

 

A6: ธปท. จะมีการออก Consultative paper เพื่อรับฟังความเห็นก่อนพิจารณาแนวทางกำกับดูแลต่อไป ซึ่งคาดว่าจะออกเกณฑ์การกำกับดูแลภายในปีนี้

 

Q7: สำหรับคริปโทเคอร์เรนซี กรณีที่มีการนำเหรียญคริปโทเคอเรนซีไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้า สามารถทำได้หรือไม่

 

A7: กรณี Stablecoin ประเภทที่มีเงินบาทหนุนหลัง (Baht-backed Stablecoin) ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงิน ธปท. จะกำกับดูแลลักษณะเดียวกับการกำกับดูแลการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้ พ.ร.บ. ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 โดยอาจกำหนดเงื่อนไขในการให้บริการ เพื่อดูแลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ โดยผู้ที่ประสงค์จะให้บริการในลักษณะดังกล่าวจะต้องหารือกับ ธปท. เพื่อพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินการ หากไม่ขออนุญาตถือว่ามีความผิด

 

กรณีของการใช้คริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ในลักษณะที่คู่สัญญาที่ตกลงแลกเปลี่ยนกันเอง ผู้เกี่ยวข้องและผู้ใช้ต้องศึกษากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเอง

 

Q8 ขอทราบ timeline และแผนดำเนินการของ CBDC

 

A8: ธปท. มี CBDC 2 รูปแบบ คือ wholesale CBDC ซึ่งใช้ในระดับสถาบันการเงิน และ retail CBDC สำหรับภาคประชาชน โดย ธปท. เริ่มศึกษาและพัฒนา wholesale CBDC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และได้ต่อยอดจนสู่การพัฒนาระบบการโอนระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) นอกจากนี้ ในปี 2564-2565 ธปท. มีแผนที่จะศึกษาและพัฒนา retail CBDC โดยในต้นเดือนเมษายนจะมีออก Direction paper เพื่อระบุถึงแนวทางของการพัฒนา CBDC เบื้องต้น และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมงานสกุลเงินดิจิทัล ฝ่ายตลาดการเงิน สายตลาดการเงิน

0 2356 7532

DigitalCurrencyTeam@bot.or.th