ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2564

​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 17/2564 | 24 มีนาคม 2564

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 2/2564

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 24 มีนาคม 2564

 

คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 

 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงยังต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดเพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุด 

 

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 4.7 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมบ้างจากการปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยว และผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แต่ได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวเร็วตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจยังมีความแตกต่างกัน โดยมีความเสี่ยงสำคัญจากประสิทธิผลและการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังมีความเปราะบางในบางจุดจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปี 2564 และจะอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูงและต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นตามฐานะการเงินที่เปราะบาง โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยปรับสูงขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่าสอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินและนัยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง  

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง และสนับสนุนให้เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ที่ออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้สามารถกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสามารถควบคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ ควบคู่กับดำเนินการนโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจและยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน 

 

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ รวมถึงจะติดตามความเพียงพอของมาตรการภาครัฐและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

24 มีนาคม 2564

สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทย
รายละเอียดของประมาณการเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าประมาณเดิมบ้างและการฟื้นตัวยังแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ
กิจกรรมืทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2564
เร่งดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูฯ ที่ออกมาเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้สามารถกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุด

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำนักกลยุทธ์นโยบายการเงิน

0 2283 6186,0 2356 7872

MPSO@bot.or.th