ทิศทางการพัฒนา Retail CBDC ของประเทศไทย
ข่าว ธปท. ฉบับที่ 21/2564 | 02 เมษายน 2564
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยแนวทางการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน
Retail CBDC เป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง โดย Retail CBDC สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งในแบบออนไลน์ (On-line) และออฟไลน์ (Off-line)1 นอกจากนี้ ยังสะดวกต่อการพกพาเคลื่อนย้าย และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคตได้
การพัฒนา Retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน รวมถึงสามารถใช้บริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา Retail CBDC ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับบริบทที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในภาคการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต
การพัฒนา Retail CBDC ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของภาคการเงินไทยในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ในวงกว้าง ด้วยเหตุนี้การพัฒนาและการออกใช้ Retail CBDC จึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน ดังนั้น ธปท. จึงเผยแพร่หลักคิดและแนวทางการพัฒนา Retail CDBC ในรายงาน "The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand" เพื่อสร้างความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากสาธารณชนผ่านลิงก์หรือส่งมาที่ email ด้านล่าง ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดย ธปท. จะนำความเห็นที่ได้รับมาร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ต่อไป (สำหรับรายงาน Retail CBDC สามารถดาวน์โหลดได้ที่: https://www.bot.or.th/Thai/DigitalCurrency/Documents/BOT_RetailCBDCPaper.pdf)
ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 เมษายน 2564
[1] Off-line คือ การทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต