ธปท. แจง Non-Residentสามารถทำธุรกรรม Non-deliverable OIS อ้างอิง THOR ได้

​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 28/2564 | 23 เมษายน 2564

สรุปสาระสำคัญ
ธปท. ขอชี้แจงว่า ผู้ร่วมตลาดที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทย (Non-resident) สามารถทำธุรกรรม THOR OIS ทั้งที่มีการส่งมอบและไม่ส่งมอบเป็นเงินบาท (Non-deliverable) กับสถาบันการเงินภายในประเทศไทยได้ ในลักษณะเดียวกับธุรกรรม Interest Rate Swap (IRS) อื่น ๆ 

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 ที่เริ่มมีการเผยแพร่อัตราดอกเบี้ย Thai Overnight Repurchase Rate (THOR) ธปท. ได้เห็นการใช้อัตราดอกเบี้ย THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในธุรกรรมการเงินที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคาร การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นกู้ หุ้นกู้อนุพันธ์ พันธบัตร ธปท. ประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะเดียวกันตลาดอนุพันธ์ Overnight Index Swap (OIS) ที่อ้างอิง THOR มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเริ่มมีธุรกรรมอนุพันธ์ Cross-Currency Swap (CCS) ที่อ้างอิง THOR สำหรับอัตราดอกเบี้ยสกุลบาทด้วย

 

การที่ผู้ร่วมตลาดใช้อัตราดอกเบี้ย THOR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในธุรกรรมการเงินกันอย่างแพร่หลาย จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดอนุพันธ์อ้างอิง THOR มีสภาพคล่องสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ปริมาณธุรกรรม THOR OIS จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ตลาดนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ร่วมตลาดทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน

 

ในโอกาสนี้ ธปท. จึงขอชี้แจงว่า ผู้ร่วมตลาดที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศไทย (Non-resident) สามารถทำธุรกรรม THOR OIS ทั้งที่มีการส่งมอบและไม่ส่งมอบเป็นเงินบาท (Non-deliverable) กับสถาบันการเงินภายในประเทศไทยได้ ในลักษณะเดียวกับธุรกรรม Interest Rate Swap (IRS) อื่น ๆ โดยหวังว่าการทำธุรกรรม THOR OIS ของผู้ร่วมตลาดประเภท Non-resident นี้ จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาตลาดอนุพันธ์อ้างอิง THOR ได้เช่นกัน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
23 เมษายน 2564

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมมาตรฐานตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน

0 2356 7534

referencerate@bot.or.th