ธปท. ชี้แจงสภาฯ ย้ำความจำเป็นในการออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ

​​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 36/2564 | 27 พฤษภาคม 2564

สรุปสาระสำคัญ
  • นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ จะช่วยเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยกลไกของมาตรการช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. นี้ ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้จริงสอดคล้องกับสถานการณ์ ผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

ในวันนี้ (27 พ.ค. 2564) นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ จะช่วยเติมเต็มความช่วยเหลือให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยกลไกของมาตรการช่วยเหลือตาม พ.ร.ก. นี้ ถูกออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจได้จริงสอดคล้องกับสถานการณ์ ผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดย ธปท. ยังคงทำงานร่วมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งผลักดันให้ธุรกิจได้รับความช่วยเหลือมากขึ้น และทันการณ์  

 

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา การระบาดของโควิด 19 เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เศรษฐกิจหดตัวถึงร้อยละ 6.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี  ธปท. ร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงออกมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ ภายใต้ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ซึ่งในขณะนั้นเน้นการเยียวยาระยะสั้นและเร่งด่วน เพราะประเมินว่าสถานการณ์ระบาดแม้จะส่งผลรุนแรง แต่จะคลี่คลายได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง มาตรการเดิมที่มีอยู่จึงยังไม่เพียงพอ อีกทั้งการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใน พ.ร.ก. ซอฟต์โลนเดิม ให้รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำได้ยากและใช้เวลานาน ธปท. และกระทรวงการคลัง เห็นความจำเป็นเร่งด่วน ในการออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ นี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ต่อเนื่องจาก พ.ร.ก. ซอฟต์โลนฉบับเดิม พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อรองรับตามสถานการณ์ในระยะข้างหน้าหากจำเป็น

 

การออกแบบมาตรการใน พ.ร.ก. ฟื้นฟูฉบับนี้ มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกหนี้ได้หลากหลายกลุ่ม และทันต่อเหตุการณ์  ธปท. จึงประสานความร่วมมือและหารือกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งในส่วนของลูกหนี้ ผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรมไทย และส่วนของเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินต่าง ๆ ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้หารือและรับประเด็นต่าง ๆ จากคณะกรรมาธิการหลายชุด จนได้ข้อตกลงในมาตรการที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่าย ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูวงเงิน 250,000 ล้านบาท เพื่อเติมสภาพคล่องใหม่และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อปลดภาระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน 

 

มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขและกลไกจากมาตรการซอฟต์โลนเดิม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด รวมถึงเอื้อให้ธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ดังนี้ 

 

(1) ปรับวงเงินสินเชื่อให้สูงขึ้นจากร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องมากขึ้นในการรองรับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น 
(2) ปลดเงื่อนไขให้ครอบคลุมธุรกิจในวงกว้างขึ้น โดย SMEs กลุ่มที่เดิมไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อมาก่อน สามารถมาขอสินเชื่อฟื้นฟูได้ 
(3) ขยายระยะเวลากู้ยืมให้ยาวขึ้น จาก 2 ปี เป็น 5 ปี ตามสถานการณ์ที่ยืดเยื้อกว่าเดิม โดยคาดว่าระยะเวลา 5 ปี จะเพียงพอให้เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ 
(4) อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามระยะเวลาสินเชื่อที่ยาวขึ้น และสะท้อนความเสี่ยงในปัจจุบัน แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อบรรเทาภาระ 
(5) ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยให้มีกลไกการค้ำประกันผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ที่มีสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายเพิ่มขึ้น จากกลไก บสย. ปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น

 

โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นกลไกใหม่ ที่ถูกออกแบบมาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยืดเยื้อ ต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่น ๆ ในการฟื้นตัว แต่ยังมีภาระหนี้ในการผ่อนชำระ ไม่สามารถใช้กลไกการปรับโครงสร้างหนี้ปกติได้ และมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันอยู่กับสถาบันการเงิน เช่น กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก แต่จะกลับมาเปิดกิจการได้ เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะสามารถโอนทรัพย์สินไปไว้ที่สถาบันการเงินเพื่อหยุดภาระการชำระหนี้ โดยมีสิทธิมาเช่าทรัพย์สินกลับเพื่อทำธุรกิจ และสามารถซื้อสินทรัพย์คืนเป็นรายแรกด้วยราคาที่เป็นธรรม  

 

ซึ่งกลไกนี้จะบรรเทาปัญหาของลูกหนี้ได้ใน 3 ด้าน 1) ช่วยหยุดภาระการชำระหนี้ของลูกหนี้ 2) ช่วยให้ลูกหนี้หลีกเลี่ยงการขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำ ในช่วงที่ความเสี่ยงสูง หรือที่เรียกกันว่า fire sale และ 3) เปิดโอกาสให้ลูกหนี้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง หลังสถานการณ์คลี่คลาย นอกจากนี้ เพื่อดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้ออกแบบกลไกการกำหนดราคาซื้อคืนให้เหมาะสม ตรงไปตรงมา และให้ตกลงกันไว้ก่อน รวมทั้ง ธปท. ได้กำหนดให้มีมาตรฐานของสัญญาตีโอนทรัพย์ และให้สถาบันการเงินทุกรายต้องส่งสัญญาดังกล่าวมาให้ ธปท. พิจารณาก่อนเข้าร่วมโครงการด้วย 

 

มาตรการฟื้นฟูนี้ อาจไม่เหมาะกับทุกกลุ่มลูกหนี้ จึงต้องพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ด้วย 

 

หลังจากที่ ธปท. ได้เริ่มเปิดให้สถาบันการเงินยื่นคำขอรับสภาพคล่อง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา มีการเข้ามาขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 มียอดสินเชื่อฟื้นฟูที่ปล่อยแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 15,855 ล้านบาท เป็นลูกหนี้จำนวน 6,611 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อราย ซึ่งถือได้ว่าสินเชื่อกระจายลงไปยัง SMEs ขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิม ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ถึงร้อยละ 62 โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจการพาณิชย์ รองลงมา คือ ภาคบริการ และพบว่าจากผู้ได้รับสินเชื่อทั้งหมด กว่าร้อยละ 64 เป็นธุรกิจที่อยู่ในต่างจังหวัด

 

ยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงแรกนี้ ยังค่อยเป็นค่อยไปตามที่คาดไว้ ว่าจะมีการเบิกใช้สินเชื่อเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรกนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจของกลุ่ม SMEs เป้าหมายที่เป็น SMEs ขนาดเล็ก ยังถูกกระทบจากการระบาด สินเชื่อส่วนใหญ่จึงเป็นสินเชื่อหมุนเวียนและมูลค่าไม่สูง ในระยะถัดไป เมื่อเศรษฐกิจ เริ่มฟื้นตัวได้ ธุรกิจจะต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมในการปรับปรุงกิจการเพื่อเตรียม ความพร้อม และสุดท้าย เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาสู่ระดับปกติ ก็จะต้องใช้สินเชื่อเพื่อขยายหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นเหตุผลที่ทำให้ พ.ร.ก. นี้ กำหนดระยะเวลาการมาขอสินเชื่อได้ยาวถึง 2 ปี 

 

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่หลายรายได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยที่เป็นคู่ค้าของตน ให้สามารถเข้าถึงสภาพคล่องจากมาตรการนี้เพิ่มเติม โดยให้ข้อมูลที่จำเป็นในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น ประวัติและยอดขายในอดีตของคู่ค้า เพื่อให้สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของธุรกิจได้ง่ายขึ้น ซึ่ง ธปท. จะสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ เร่งดำเนินการในแนวทางเช่นเดียวกันนี้ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของมาตรการ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้นอีก   

 

สำหรับโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นโครงการใหม่ ต้องใช้เวลาหารือรายละเอียดเป็นรายกรณี โดยปัจจุบัน มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 910 ล้านบาท จากลูกหนี้ 4 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรม และลูกหนี้หลายรายอยู่ระหว่างการหารือ กับสถาบันการเงิน แต่เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการเจรจาเงื่อนไขและรายละเอียดเป็นรายกรณี ทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าสินเชื่อฟื้นฟูในการได้ข้อสรุป ทั้งนี้ เมื่อลูกหนี้และเจ้าหนี้มีความเข้าใจและคุ้นเคยกับมาตรการมากขึ้น รวมทั้งเมื่อการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยลดต้นทุนการโอนทรัพย์สินมีผลบังคับใช้แล้ว การเข้าร่วมโครงการนี้จะเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง 

 

สำหรับข้อกังวลว่าการใช้ระบบธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อภายใต้มาตรการนี้ อาจทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก ขอชี้แจงว่าประเด็นสำคัญคงไม่ใช่แค่การเข้าถึงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมไปถึงว่า การช่วยเหลือนั้นเร็วและตรงจุดหรือไม่ ไปสู่ผู้ที่เดือดร้อนแต่มีโอกาสกลับมาทำธุรกิจได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากจนเกินไปกับประเทศในอนาคต ซึ่งผู้จัดสรรสินเชื่อที่จะตอบโจทย์ดังกล่าว จำเป็นต้องรู้จักลูกหนี้ และมีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงเป็น ดังนั้น สถาบันการเงินจึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะที่สุดในสภาวะปัจจุบัน เทียบกับการใช้กลไกของภาครัฐ ที่มีความชำนาญและความคุ้นเคยกับธุรกิจไม่เท่ากับสถาบันการเงิน 

 

แต่การพึ่งพากลไกของสถาบันการเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ พ.ร.ก. นี้ จึงได้ออกแบบให้เพิ่มกลไกสภาพคล่องจาก ธปท. และการค้ำประกันจาก บสย. ข้างต้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่เสี่ยงได้มากขึ้น  นอกจากนั้น ธปท. ติดตามและดูแลการดำเนินงานของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. ได้ออกประกาศและกฎเกณฑ์เป็นแนวปฏิบัติให้กับสถาบันการเงิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ด้วย

 

ทั้งนี้ ในการดำเนินมาตรการ ธปท. ให้ความสำคัญกับการเร่งผลักดันให้ธุรกิจได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นและทันการณ์ โดยโจทย์ใหญ่ของมาตรการนี้ คือ การช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจจากปัญหาโควิด 19 ให้ได้มากที่สุด นอกจากการออกแบบกลไกความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ความเดือดร้อนแล้ว ที่สำคัญ คือ การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของมาตรการ ที่ผ่านมา ธปท. จึงได้ติดตามและประเมินผลการขอสินเชื่ออย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งรัดให้สถาบันการเงินแต่ละแห่ง มีมาตรการช่วยเหลือเชิงรุกที่เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละรายตามผลกระทบและความเดือดร้อนของลูกหนี้ และเร่งสื่อสารรายละเอียดของมาตรการไปยังสาขาอย่างเข้มข้น เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจและสามารถให้บริการแก่ลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ธปท. ได้สื่อสารกับกลุ่มลูกหนี้ผ่านสมาคมต่าง ๆ และสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งจัดให้มี call center เฉพาะกิจ เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดของมาตรการ อีกทางหนึ่งด้วย 

 

จากการหารือกับสถาบันการเงินล่าสุด จะสามารถปล่อยสินเชื่อจากมาตรการใน 6 เดือนจากนี้ ได้กว่า 1 แสนล้านบาท และหากการให้ความช่วยเหลือไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ธปท. ก็พร้อมที่จะเพิ่มกลไกในการผลักดันให้สถาบันการเงินดำเนินการได้เร็วยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากสถานการณ์การระบาดต่างไปจากที่คาดไว้ พ.ร.ก. นี้ก็ได้ให้ความยืดหยุ่นในการปรับปรุงเงื่อนไขให้สอดคล้อง หรือดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

สุดท้ายนี้ ผว.เศรษฐพุฒิ ย้ำว่า วงเงิน 350,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.ก. ฟื้นฟูฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่เป็น พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจ ธปท. เป็นการชั่วคราว ให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปยังผู้ที่ต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ธปท. จะได้รับสภาพคล่องเหล่านั้นกลับคืนมา ส่วนที่รัฐบาลรับภาระจะมีเฉพาะดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ร่วมรับภาระกับสถาบันการเงินผ่านกลไก บสย. ในกรณีที่ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย จึงเป็นการออกแบบกลไกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด โดยไม่สร้างภาระการคลังให้กับรัฐบาลมากจนเกินควร

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2564

 

ข้อมูลเพิ่มเติม