แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2564

​​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 55/2564 | 30 กรกฎาคม 2564

สรุปสาระสำคัญ

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ แม้ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า และยังช่วยพยุงการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อน หลังจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่อ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงขาขึ้นส่งผลให้การส่งออกยังเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ การส่งออกเหล็กเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปลี่ยนไปเน้นตลาดส่งออกมากขึ้นในช่วงที่ความต้องการในประเทศลดลง 

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการส่งออก ขณะที่การลงทุนหมวดก่อสร้างปรับลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการผลิตหมวดยานยนต์ ปิโตรเลียม และวัสดุก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการผลิตหมวดอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางปรับดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีต่อเนื่อง โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังมีอยู่ 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง เนื่องจากผลของฐานต่ำในหมวดราคาพลังงานทยอยหมดไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นตามทิศทางการส่งออก ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศที่ยังยืดเยื้อ

 

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสามของ COVID-19 ส่งผลให้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับลดลงจากไตรมาสก่อน แม้มาตรการภาครัฐจะช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังอ่อนแอ เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยพยุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนถึงบทบาทในการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งฐานราคาพลังงานที่ต่ำในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าไตรมาสก่อน ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 กรกฎาคม 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th