​แถลงข่าวร่วมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซียเปิดให้บริการชำระเงินด้วย QR Code

แถลงข่าวร่วม | 17 สิงหาคม 2564

Logo
สรุปสาระสำคัญ

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia: BI) ได้ร่วมกันแถลงเปิดตัวการเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกผ่านโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย และเปิดให้บริการชำระเงินด้วยนวัตกรรม QR Code ที่เป็นมาตรฐานส่งผลให้ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศสามารถทำรายการชำระเงินและรับเงินระหว่างกันผ่าน QR Code ได้ทันที นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity)

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอินโดนีเซีย (Bank Indonesia: BI) ได้ร่วมกันแถลงเปิดตัวการเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกผ่านโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย และเปิดให้บริการชำระเงินด้วยนวัตกรรม QR Code ที่เป็นมาตรฐานส่งผลให้ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศสามารถทำรายการชำระเงินและรับเงินระหว่างกันผ่าน QR Code ได้ทันที นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค

 

ในระยะแรก ลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ1 สแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard)2 ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนลูกค้าในประเทศอินโดนีเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการสแกน Thai QR Code3 ชำระค่าสินค้าและบริการร้านค้าของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในประเทศไทย การให้บริการในระยะแรกนี้นับเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับลูกค้า ร้านค้า และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินระหว่างประเทศก่อนที่จะขยายการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบต่อไป 

 

การให้บริการชำระเงินระหว่างกันด้วย QR Code มาตรฐานนี้ จะรองรับธุรกรรมการชำระเงินจากการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะจากธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันสูงถึง 8 แสนคนในปี 2562 และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกหลังสถานการณ์การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งบริการนี้ยังสามารถรองรับการซื้อขายออนไลน์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย 

 

ในระยะต่อไป ช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 จะเพิ่มจำนวนธนาคารและ non-bank ที่ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตจะขยายบริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับแทนเลขที่บัญชีด้วย

 

ในโอกาสนี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า "ธปท. เห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ และได้ดำเนินการกับหลายประเทศในอาเซียนแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตามแผน ASEAN Payment Connectivity ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ธปท. เชื่อมั่นว่าบริการการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสมและจูงใจต่อผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ที่ทำการค้าขายออนไลน์ และนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 คลี่คลายลง นอกจากนี้ การเชื่อมโยงกับประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนครั้งนี้จะเป็นปัจจัยเร่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีการชำระเงินของประชาชนในอาเซียน อันจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตและก้าวไปสู่สังคมดิจิทัลอีกด้วย"

 

นายซูเกง รองผู้ว่าการ BI เปิดเผยเพิ่มเติมว่า "การเชื่อมโยงการชำระเงินในครั้งนี้เป็นอีกก้าวในแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินอินโดนีเซียปี 2568 โดยเฉพาะในส่วนของระบบการชำระเงินรายย่อยหรือการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านการเชื่อมโยงมาตรฐาน QR Code นอกจากนี้ การเชื่อมโยงดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นโดยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงสำหรับการชำระดุลระหว่างประเทศ ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมต่ำลง โดยการทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวแทนในการให้บริการธุรกรรม (Appointed Cross Currency Dealer: ACCD) ในแต่ละประเทศ นอกจากการเชื่อมโยงนี้จะส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้วยังจะช่วย SME ที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยวให้เข้าถึงบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยระยะแรกของการเชื่อมโยงนี้ที่ BI เรียกว่า ‘industrial sandbox’ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคต่อไป"

 

ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างดีของทุกฝ่าย ภายใต้การผลักดันของธนาคารกลางของทั้งสองประเทศ คือ ธปท. และ BI รวมถึงความร่วมมือของ สมาคมธนาคารไทย สมาคมการชำระเงินของประเทศอินโดนีเซีย ผู้ให้บริการ QRIS 13 ราย ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของทั้งสองประเทศ ได้แก่ เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (NITMX)และ RAJA5  (Rintis, Artajasa, Jalin และ Alto) และธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและทำหน้าที่ชำระดุลระหว่างประเทศ  ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ของประเทศไทย และ Bank Central Asia (BCA) Bank Negara Indonesia (BNI) และ Bank Rakyat Indonesia (BRI) ของประเทศอินโดนีเซีย 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
Bank Indonesia
17 สิงหาคม 2564



[1] ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงเทพใช้บริการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ส่วนผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันของธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารซีไอเอ็มบีไทย สามารถใช้บริการได้ภายในเดือนกันยายน 2564 นี้
[2] QRIS คือ มาตรฐาน QR ของอินโดนีเซีย ที่ร้านค้าสามารถใช้รับชำระเงินจากลูกค้าของธนาคารและผู้ให้บริการ e-wallet ที่ร่วมโครงการ
[3] Thai QR Code คือ มาตรฐาน QR ของไทย ซึ่งเทียบเคียงได้กับ QRIS ของอินโดนีเซีย 
[4] เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (NITMX) คือ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในประเทศไทย เช่น ระบบพร้อมเพย์
[5] RAJA คือ ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินในประเทศอินโดนีเซียทั้ง 4 ราย ได้แก่ Rintis, Artajasa, Jalin, และ Alto

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ : 
ธนาคารแห่งประเทศไทย 
ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน
โทร : (+66) 2283 5054
อีเมล : PSSAD-PSD@bot.or.th  

 

Bank Indonesia
Payment Systems Policy Department
Tel : (+62) 2381 7027
Email : DKSP-ITSP@bi.go.id

ธนาคารและ non-bank ที่ให้บริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย

 

ธนาคารและ non-bank ที่ให้บริการในช่วงแรก มีดังนี้

bank and non-bank