ความร่วมมือในภาคการธนาคารอาเซียน (Qualified ASEAN Bank) ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 66/2564 | 14 กันยายน 2564

สรุปสาระสำคัญ
  • ธปท. ได้บรรลุผลการเจรจา Qualified ASEAN Bank (QAB) กับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) โดย ธปท. พร้อมรับสมัครธนาคารพาณิชย์รายใหม่สัญชาติมาเลเซีย รวมถึงให้ความเห็นชอบธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ได้รับสิทธิประโยชน์ตามผลการเจรจา 
  • สำหรับผลการเจรจา QAB ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทั้งสองประเทศได้ตกลงให้สิทธิประโยชน์ตามหลักการต่างตอบแทน ด้วยการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัญชาติของอีกฝ่ายไม่เกิน 3 ราย โดยให้นับรวมธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในปัจจุบันด้วย

​นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้บรรลุผลการเจรจา Qualified ASEAN Bank (QAB) กับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) โดย ธปท. พร้อมรับสมัครธนาคารพาณิชย์รายใหม่สัญชาติมาเลเซีย รวมถึงให้ความเห็นชอบธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ได้รับสิทธิประโยชน์ตามผลการเจรจา 

 

QAB เป็นหนึ่งในการรวมตัวภาคการเงินตามแผนงานจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งการรวมตัวของภาคการเงินผ่านบทบาทของธนาคารในภูมิภาคจะมีบทบาทช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อรองรับการค้าการลงทุนในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอาเซียนได้สรุปผลเจรจา QAB แล้วทั้งหมด 3 คู่ ซึ่งเป็นการเจรจาแบบทวิภาคีตามความพร้อมของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย-อินโดนีเซีย มาเลเซีย-ไทย และ มาเลเซีย-ฟิลิปปินส์ 

 

สำหรับผลการเจรจา QAB ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทั้งสองประเทศได้ตกลงให้สิทธิประโยชน์ตามหลักการต่างตอบแทน ด้วยการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ธนาคารพาณิชย์ที่มีสัญชาติของอีกฝ่ายไม่เกิน 3 ราย โดยให้นับรวมธนาคารพาณิชย์ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในปัจจุบันด้วย ในกรณีของประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียรายใหม่จะสามารถจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Subsidiary) ในฐานะ QAB สัญชาติมาเลเซียในประเทศไทยได้เพิ่มอีก 1 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติมาเลเซียที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้ว 2 ราย ได้แก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และธนาคาร อาร์ เอช บี ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยรายใหม่จะสามารถจัดตั้ง Subsidiary ในฐานะ QAB สัญชาติไทยในประเทศมาเลเซียได้เพิ่มถึง 2 ราย เนื่องจากปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติไทยที่ประกอบธุรกิจในประเทศมาเลเซียอยู่แล้ว 1 ราย คือ บางกอก แบงค์ เบอร์ฮาด

 

ธปท. หวังว่า QAB จะช่วยต่อยอดให้เกิดความร่วมมือของภาคการเงินในระดับภูมิภาค และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินและยกระดับคุณภาพการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางเงิน รวมถึง ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้นในอนาคต 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
14 กันยายน 2564

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน

+66 2283 5921

BANKINT@bot.or.th