ความคืบหน้าโครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในไทยระยะที่ 1 และ 2

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 91/2564 | 02 ธันวาคม 2564

สรุปสาระสำคัญ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration: BIR) ที่ ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการร่วมกัน
  • โครงการ BIR ระยะที่ 1 ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 และวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 2,600 ราย และตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป การรับมอบหรือส่งมอบตราสารหนี้ของ non-resident ต้องทำผ่านบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกราย UBO ที่ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ไว้แล้วเท่านั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. หรือได้ดำเนินการตามวิธีการที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) กำหนด 
  • โครงการ BIR ระยะที่ 2 จะดำเนินการกับผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (resident) โดย ธปท. จะขอข้อมูลการถือครองและการส่งมอบตราสารหนี้จาก TSD โดยผู้ลงทุน resident ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการลงทะเบียนแสดงตัวตนของผู้ลงทุนตราสารหนี้ในประเทศไทย (Bond Investor Registration: BIR) ที่ ธปท. กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการร่วมกัน โดยโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX ecosystem) ด้านการยกระดับระบบติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (FX surveillance and Management) เพื่อให้ ธปท. มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรวดเร็ว เพื่อกำหนดนโยบายได้ตรงจุดและทันการณ์

 

สำหรับโครงการ BIR ระยะที่ 1 ที่ดำเนินการกับผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (non-resident) นั้น ธปท. และ ก.ล.ต. ได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 และวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ตามลำดับ ซึ่งมีผลให้ผู้ลงทุน non-resident ต้องเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์สำหรับตราสารหนี้แบบแยกรายผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate beneficiary owner: UBO) และลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ซึ่งข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2564 มีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 2,600 ราย และตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป การรับมอบหรือส่งมอบตราสารหนี้ของ non-resident ต้องทำผ่านบัญชีฝากหลักทรัพย์แบบแยกราย UBO ที่ได้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ไว้แล้วเท่านั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. หรือได้ดำเนินการตามวิธีการที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) กำหนด 

 

นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำระบบตรวจสอบข้อมูล1 เพื่ออำนวยความสะดวกให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง สามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนแสดงตัวตนกับ ธปท. ของลูกค้าได้ โดยใช้รหัส Legal Entity Identifier (LEI) และเลขที่บัญชีฝากหลักทรัพย์ของลูกค้า โดยจะเปิดให้ใช้ระบบในวันที่ 4 มกราคม 2565 

 

สำหรับโครงการ BIR ระยะที่ 2 จะดำเนินการกับผู้ลงทุนที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ (resident) โดย ธปท. จะขอข้อมูลการถือครองและการส่งมอบตราสารหนี้จาก TSD โดยผู้ลงทุน resident ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพิ่มเติม เนื่องจากผู้ลงทุน resident มีลักษณะการเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ระดับ UBO ที่ TSD อยู่แล้ว ซึ่ง ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 ธันวาคม 2564


1) ธพ. และ บล. ที่สนใจ สามารถเตรียมความพร้อมการเข้าใช้ระบบงานได้ตามรายละเอียดใน link https://iservice.bot.or.th/resources/documents/คู่มือการใช้งานDMS_DA_2560.pdf

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

สายตลาดการเงิน

0 2283 5130

0 2283 5142