ยกระดับ "ทางด่วนแก้หนี้" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจได้มากขึ้น

​ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 94/2564 | 29 ธันวาคม 2564

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและยืดเยื้อ ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงการเปิด “ทางด่วนแก้หนี้” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็น “ช่องทางเสริม” ในลักษณะออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ หรือได้รับความช่วยเหลือ แต่เงื่อนไขไม่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ สามารถแจ้งปัญหาและขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ได้  

 

เพื่อสนับสนุนให้มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 กันยายน 2564) สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ให้เข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนสูง ธปท. จึงได้ปรับปรุงโครงการทางด่วนแก้หนี้ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจได้ทั่วถึงและสอดคล้องกับลักษณะปัญหาที่หลากหลายได้ดีขึ้น ดังนี้ 

 

1) ลูกหนี้ธุรกิจที่ (1) มีเจ้าหนี้หลายราย (2) มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น วงเงินรวมตั้งแต่ 250 ล้านบาทขึ้นไป และ (3) ประสบปัญหาในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ทีละราย (แก้หนี้แบบเดี่ยว) เช่น ใช้เวลานาน หรือไม่สามารถทำได้ครบทุกราย สามารถลงทะเบียนขอปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายพร้อมกันได้ในคราวเดียว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2566 

 

2) ลูกหนี้ธุรกิจอื่น ที่นอกเหนือจากข้อ 1 และมีปัญหาการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ สามารถลงทะเบียนแจ้งปัญหาผ่านทางด่วนแก้หนี้ รวมถึงสามารถแจ้งขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ และคำแนะนำอื่น ๆ เพิ่มเติม ผ่าน “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 

 

สำหรับผลการดำเนินงานของ “ทางด่วนแก้หนี้” ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ในเครือข่ายของทางด่วนแก้หนี้จำนวน 75 แห่ง ทั้งที่อยู่ภายใต้การกำกับและนอกการกำกับของ ธปท. โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 254,187 บัญชี หรือร้อยละ 76 ของผู้ที่เข้าเงื่อนไข และส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย (ข้อมูลถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564)

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 ธันวาคม 2564 

ทางด่วนแก้หนี้

คำถาม - คำตอบ

ยกระดับ "ทางด่วนแก้หนี้" 

เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจได้มากขึ้น

Q1 : วัตถุประสงค์ของการยกระดับ ทางด่วนแก้หนี้ในครั้งนี้ คืออะไร 

 

ธปท. ได้ปรับปรุงทางด่วนแก้หนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 

 

1) เพื่อให้ทางด่วนแก้หนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและธุรกิจได้ทั่วถึงขึ้น โดยรวมช่องทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไว้ที่เดียว เพื่อรองรับสินเชื่อทั้งรายย่อยและธุรกิจ ทุกสถานะ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors)

 

2) ต่อยอดการให้บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ และคำแนะนำอื่น ๆ ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ลงทะเบียนผ่านทางด่วนแก้หนี้

Q2 : การยกระดับทางด่วนแก้หนี้เพื่อให้รองรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (multi-creditors) เหมือนหรือแตกต่างจากโครงการ DR BIZ อย่างไร 

 

• ทั้งสองแนวทางมีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป (multi-creditors) ให้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันได้ในคราวเดียว แทนที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ทีละราย (แก้หนี้แบบเดี่ยว) ซึ่งอาจใช้เวลานาน หรือไม่สามารถทำได้ครบทุกราย จนทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ในอนาคต

 

• อย่างไรก็ดี คุณสมบัติของลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายรายที่สามารถเข้าร่วมโครงการจะแตกต่างกัน ดังนี้

 

 วงเงินกู้ขั้นต่ำ สถานะลูกหนี้*
DR BIZ ไม่จำกัด ไม่เป็น NPL อย่างน้อย 1 บัญชี
multi-crditors 250 ล้านบาทขึ้นไป เป็น NPL ได้ทุกสถาบันการเงิน

 

* ต้องไม่เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562

 

Q3 : ลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องการแก้ไขหนี้กับเจ้าหนี้หลายรายในคราวเดียวกันต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

 

• ลูกหนี้ที่จะปรับโครงสร้างหนี้ multi-creditors ต้องได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และต้องมีคุณสมบัติดังนี้

(1)  มีเจ้าหนี้ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป 

(2)  มีวงเงินรวมตั้งแต่ 250 ล้านบาท 

(3)  ทุกสถานะบัญชี แต่ต้องไม่เป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562

(4)  ไม่อยู่ระหว่างถูกฟ้องดำเนินคดี 

Q4 : ลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินรวมกับเจ้าหนี้ทุกรายน้อยกว่า 250 ล้านบาท จะได้รับการช่วยเหลือด้วยหรือไม่ 

 

• ลูกหนี้ธุรกิจทุกขนาดวงเงิน รวมถึงลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินรวมน้อยกว่า 250 ล้านบาท สามารถติดต่อเจ้าหนี้โดยตรง (ทั้งธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) เพื่อขอรับความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวของ ธปท. (มาตรการ 3 กันยายน 2564 สำหรับธนาคารพาณิชย์ และ มาตรการ 16 ธันวาคม 2564 สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ)

 

• ในกรณีที่ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินแล้ว แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการหรือเจ้าหนี้ หรือได้รับความช่วยเหลือแต่เงื่อนไขไม่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ สามารถแจ้งปัญหาและขอปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ผ่านการลงทะเบียนที่ทางด่วนแก้หนี้ได้ 

Q5 : สถาบันการเงินใดเข้าร่วมโครงการทางด่วนแก้หนี้เพื่อช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย

 

• สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวม 36 แห่ง (รายชื่อตามเอกสารแนบ) นอกจากนี้ลูกหนี้สามารถเชิญเจ้าหนี้ non-bank รายสำคัญมาร่วมปรับโครงสร้างหนี้ได้ด้วย 

Q6 : ช่องทาง ขั้นตอน และเอกสารในการสมัครเข้าร่วมโครงการ

 

1. ลูกหนี้สมัครเข้าร่วมโครงการโดยลงทะเบียนผ่านทางด่วนแก้หนี้ที่ปรับปรุงใหม่  http://www.1213.or.th/App/Debtcase และตอบคำถามเพื่อคัดกรองคุณสมบัติ ได้แก่ ประเภทหนี้ที่ต้องการแก้ไข จำนวนเจ้าหนี้สินเชื่อธุรกิจ วงเงินสินเชื่อธุรกิจ สถานะของสินเชื่อธุรกิจ และเลือกความประสงค์ในการแก้ไขหนี้กับเจ้าหนี้ธุรกิจทุกรายพร้อมกัน 

2. เมื่อตอบคำถามคัดกรองแล้ว และมีคุณสมบัติตามที่กำหนด ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น

  • ชื่อบุคคล / นิติบุคคล
  • ประเภทลูกหนี้ (บุคคลธรรมดา/ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือ หจก./ บริษัทจำกัด หรือ บจก./ บริษัทมหาชนจำกัด หรือ บมจ./ อื่นๆ)
  • เลขบัตรประชาชน / เลขประจำตัวนิติบุคคล
  • ชื่อผู้ติดต่อ
  • อีเมล (E-mail)
  • หมายเลขโทรศัพท์มือถือ
  • รายชื่อสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารเจ้าหนี้ที่สะดวกให้ติดต่อกลับ

3. สถาบันการเงินจะติดต่อลูกหนี้กลับภายใน 5 วัน โดยสถาบันการเงินธนาคารจะมีการตรวจสอบตัวตนลูกหนี้ และขอเอกสารจากลูกหนี้เพิ่มเติม

4. ลูกหนี้นำส่งเอกสารเพิ่มเติมตามที่สถาบันการเงินกำหนด

5. สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้จะร่วมกันพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือ และแจ้งลูกหนี้ทราบผล รวมถึงลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ภายใน 90 วัน นับจากวันประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก (ทั้งนี้ อาจขยายเวลาเพิ่มได้ในกรณีที่มีความซับซ้อน)

Q7 : หากลูกหนี้ลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือ ควรทำอย่างไร  

 

สำหรับลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด หากลงทะเบียนแล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือสามารถโทรแจ้งมาที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 

Q8 : ประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการ

 

ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ารับการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนด จะได้รับการแก้หนี้จากเจ้าหนี้หลายรายพร้อมกันในคราวเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้น กรณีที่กลุ่มเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงร่วมกันว่าจะจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor: FA) ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้

Q9 : ระยะเวลาของโครงการ 

ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนผ่านทางด่วนแก้หนี้ที่ปรับปรุงใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน

1213

fcc@bot.or.th