รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2564

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 96/2564 | 31 ธันวาคม 2564

สรุปสาระสำคัญ

ธปท. เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2564 ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่หลายส่วนยังมีความเปราะบาง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงและไม่เท่าเทียม โดยรายงานฉบับนี้ ธปท. จัดทำร่วมกับ ก.ล.ต. และ คปภ. เพื่อให้สาธารณชนรับทราบประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย 2564 ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่หลายส่วนยังมีความเปราะบาง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงและไม่เท่าเทียม โดยรายงานฉบับนี้ ธปท. จัดทำร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้สาธารณชนรับทราบประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย ซึ่งจะช่วยให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มั่นคงขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและไม่เท่าเทียม ทำให้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่ม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยภาคครัวเรือนยังมีภาระหนี้ในระดับสูง และเร่งตัวขึ้นในช่วงโควิด 19 รวมถึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ SMEs และธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและฐานะการเงินสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากฟื้นตัวได้ช้า

 

อย่างไรก็ดี ระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ธุรกิจประกันภัยในภาพรวมยังมีฐานะการเงินมั่นคง โดยผลกระทบจากการระบาดของโควิด 19 จำกัดอยู่เฉพาะบางบริษัทที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งทางการได้มีมาตรการการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ผลการทดสอบภาวะวิกฤตภายใต้สถานการณ์จำลองในลักษณะมองไปข้างหน้าชี้ว่าระบบสถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ตลาดการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

 

การผสมผสานนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และมาตรการช่วยเหลือโดยผู้กำกับดูแลในช่วงที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน และดูแลลูกหนี้ให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤต ส่งผลให้โอกาสเกิดวิกฤตของระบบการเงินไทยลดลงจากปีก่อนหน้า โดยภาครัฐได้ปรับรูปแบบของมาตรการให้สอดรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง โดยในปี 2564 นโยบายการเงินยังต้องอยู่ในระดับผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการเงินเน้นการให้ความช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ตรงจุดและเป็นมาตรการระยะยาวขึ้นตามความรุนแรงและยืดเยื้อของปัญหา โดยเน้นการเสริมสภาพคล่องสำหรับกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ และปรับมาตรการแก้หนี้เดิมมาเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับลักษณะปัญหาและการฟื้นตัวของรายได้ลูกหนี้ พร้อมดูแลให้ระบบการเงินสามารถทำหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

 

ในระยะข้างหน้า การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินไทยยังมีความท้าทายในหลายด้านโดยเฉพาะ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังต้องใช้เวลาและมีความไม่แน่นอนสูงจากความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง (2) ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและถูกซ้ำเติมให้ชัดเจนขึ้นจากโควิด 19 และ (3) บริบททางเศรษฐกิจและระบบการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังผ่านพ้นโควิด 19 ซึ่งจะกระทบความสามารถในการทำธุรกิจหรือการแข่งขันของบางภาคธุรกิจทำให้ต้องปรับตัว ดังนั้น การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ในระยะยาวของลูกหนี้ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร และการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกหลังโควิด 19 จึงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน และต้องเร่งผลักดันในระยะต่อไป

 

ภายใต้ภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันติดตามความเสี่ยงในภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถออกมาตรการดูแลเพิ่มเติมได้อย่างทันท่วงทีหากจำเป็น รวมถึงดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและเอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ร่วมกันได้อย่างมั่นคง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ธันวาคม 2564

 

สรุปประเด็นสำคัญ รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2564
มาตราการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในปี 64
ประสิทธิผลของมาตราการ
ความท้าทายสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน

0 2283 5960

fsu@bot.or.th