ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพบสื่อมวลชน (Meet the Press) 

Meet the Press | 11 มกราคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่เร็วและไม่เท่าเทียม 
  • คาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.4% และกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด น่าจะต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 66 เพราะเครื่องยนต์หลักยังกลับมาไม่เต็มที่ 
  • เศรษฐกิจที่ฟื้นส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น 

โจทย์สำคัญของ ธปท. ในปีนี้มี 2 เรื่อง คือ (1) ดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด และ (2) เร่งวางรากฐานให้ภาคการเงินไทยพร้อมรองรับกระแสดิจิทัล และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่มาเร็วและแรงได้อย่างเท่าทัน

 

ภาพเศรษฐกิจไทยในปี 65 คาดว่าจะฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่เร็วและไม่เท่าเทียม โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะขยายตัวที่ 3.4% และกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด น่าจะต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 66 เพราะเครื่องยนต์หลักยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า ทำให้การจ้างงานและรายได้ของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออกฟื้นตัวได้ดี เราจึงยังเห็น การฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง (K-shaped)

 

เศรษฐกิจที่ฟื้นส่งผลให้การจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนทยอยปรับดีขึ้น ผู้ว่างงานตามนิยามเดียวกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ และ สศช. คาดว่าจะอยู่ที่ราว 7 แสนคน และผู้เสมือนว่างงาน (ผู้มีงานทำ แต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) อยู่ที่ 2.3 ล้านคน ซึ่งรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคน ณ สิ้นปี 65 ลดลงจาก 3.2 ล้านคน ณ สิ้นปี 64 ส่วนรายได้แรงงานนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะของลูกจ้างภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด ทำให้หลุมรายได้จะยังมีอยู่ และต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาปกติ 

ภายใต้บริบทที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง โจทย์สำคัญของ ธปท. เรื่องแรก คือ ดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ซึ่งมองไปข้างหน้า เราจะเห็น 4 ความท้าทายสำคัญที่ต้องเตรียมรับมือ 

 

1. การระบาดของ Omicron เบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์จะ “มาเร็ว และไปเร็ว” สอดคล้องกับสถานการณ์ในต่างประเทศ และจะคลี่คลายได้ในครึ่งแรกของปี ซึ่งทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะเข้ามาถึง 5 ล้านคน แต่หากการระบาดของ Omicron ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี หรือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสออกไปอีก จะกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดไว้ทั้งปีที่ 5.6 ล้านคน และทำให้การฟื้นตัวสะดุดลงได้ 

 

ในการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ คาดว่ามาตรการที่มีในปัจจุบันยังเพียงพอรองรับสถานการณ์ได้ โดยสิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้ระบบสถาบันการเงิน (สง.) ยังทำงานได้ตามปกติ และดูแลไม่ให้ภาวะการเงินตึงตัว ซึ่งที่ผ่านมา เราทำได้ดีระดับหนึ่งเห็นได้จากสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ไทย ที่ยังโตได้ดี (ล่าสุด ณ พ.ย. 64 โต 6.9%) (1) เทียบกับอดีต: สินเชื่อยังโตใกล้เคียงกับก่อนโควิดที่ 4-5% (2) เทียบกับบริบทเศรษฐกิจ: สินเชื่อยังโตได้ แม้เศรษฐกิจหดตัว ต่างจากวิกฤตในอดีตอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลก (GFC) ปี 52 ที่ GDP หดตัว 0.7% สินเชื่อระบบ ธพ. (ไม่รวมการปล่อยกู้ระหว่างธนาคาร) หดตัว 2% แต่ในวิกฤตครั้งนี้ GDP ติดลบในปี 63 ถึง 6% แต่สินเชื่อโต 5.1% และ (3) เทียบกับประเทศในภูมิภาค: สินเชื่อของไทยยังโตสูงกว่า 

 

แม้สินเชื่อยังโตได้ดี แต่ยังมีปัญหาการกระจายตัว โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ ธปท. จึงเข้าไปอุดในจุดที่ ธพ. ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เต็มที่ ผ่านการใช้มาตรการเติมเงินใหม่อย่างสินเชื่อฟื้นฟู ล่าสุดมียอดที่อนุมัติแล้ว 141,461 ล้านบาท (4 ม.ค. 65) ซึ่งถือว่าทำได้ดีเทียบกับเป้าหมาย และยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยสนับสนุน SMEs ในการฟื้นฟูกิจการ และการปรับตัวให้รองรับการอยู่กับโควิดได้ โดย ธปท. พร้อมปรับเงื่อนไขหากจำเป็นหรือต้องขยายความช่วยเหลือ นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset warehousing) ที่ล่าสุดมียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้วที่ 33,907 ล้านบาท (4 ม.ค. 65) และยังมีวงเงินเหลืออยู่เพื่อรองรับสถานการณ์ได้ 

 

ด้านการดูแลภาระหนี้เดิม ธปท. ได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว (3 ก.ย. 64) เพื่อผลักดันให้ สง. ช่วยเหลือลูกหนี้แบบยั่งยืนขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและช่วยลดภาระของลูกหนี้ได้จริงและตรงจุด นอกจากนี้ ธปท. ยังออกแบบมาตรการนี้ให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้ได้เพิ่มเติมหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ นอกจากนี้ ยังออกมาตรการการรวมหนี้ (Debt consolidation) เพื่อช่วยลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ โดย ธปท. จะให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ สง. ออก product program รวมทั้งติดตามการดำเนินการช่วยเหลือลูกหนี้ของ สง. อย่างใกล้ชิด 

 

2. เงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากปัญหาด้านอุปทาน (เช่น ราคาพลังงานและการขาดแคลนปัจจัยการผลิต) ที่ยืดเยื้อกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าครองชีพของประชาชนในบริบทที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันเงินเฟ้อของไทยยังทยอยปรับเพิ่มขึ้น ต่างจากในบางประเทศที่เร่งตัวขึ้นเร็ว โดย ธปท. คาดว่าเงินเฟ้อปี 65 และ 66 จะอยู่ที่ 1.7% และ 1.4% ตามลำดับ เทียบกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1%-3% ทำให้โดยรวมถือว่าเสถียรภาพด้านราคายังดีอยู่ สะท้อนจาก (1) ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นในบางกลุ่ม เช่น ราคาพลังงาน (ก๊าซหุงต้ม) และราคาเนื้อหมู ยังไม่เห็นการกระจายตัวเป็นวงกว้าง (2) ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับราคาสินค้า จนส่งผลให้เกิดการปรับขึ้นค่าจ้าง หรือ second-round effect ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำ และรายได้เฉลี่ยยังไม่เพิ่มขึ้น และ (3) การคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้ายังไม่ได้เพิ่มขึ้นชัดเจน (ณ ธ.ค. 64 เงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้ประกอบการอยู่ที่ 2% เทียบปี 61-62 ที่เฉลี่ยที่ 1.9%) ทั้งนี้ แม้โอกาสที่เศรษฐกิจสะดุดจากเงินเฟ้อมีไม่มาก แต่เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดเพราะจะเป็นความท้าทายสำคัญ  ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็งและรายได้คนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็จะมีนโยบายที่พร้อมปรับให้รองรับสถานการณ์ได้ 

 

3. แนวโน้ม NPL ที่อาจเร่งขึ้น กระทบฐานะการเงินของ สง. และความเชื่อมั่นจนทำให้เศรษฐกิจสะดุด แต่ขณะนี้มองว่าNPL จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และมีโอกาสน้อยที่จะเห็นหน้าผาของ NPL เนื่องจากมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่เตรียมไว้ คาดว่าจะเพียงพอรองรับสถานการณ์ได้ ซึ่ง ธปท. ได้เร่งผลักดันให้ สง. ปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้ลูกหนี้ โดยขอให้แต่ละ สง. จัดทำเป้าหมาย เพื่อให้สามารถติดตามการช่วยลูกหนี้ได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการแก้ปัญหา NPL ผ่านการให้ ธพ. และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint venture AMC) เพื่อดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหา ซึ่งจะออกหลักเกณฑ์ภายในเดือน ม.ค. 65 นอกจากนี้ ระบบ ธพ. ยังเข้มแข็ง เงินกองทุนและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยรองรับปัญหา NPL และไม่ทำให้การฟื้นตัวสะดุดลง 

 

4. สถานการณ์โลก ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของไทยใน 2 มิติ มิติแรก ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง และอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน แต่ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยต้องสะดุดลงมีน้อยมาก เพราะไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจาก (1) ดุลบัญชีเดินสะพัดเข้มแข็ง แม้ขาดดุลตอนนี้บ้าง แต่ก็ไม่ได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเหมือนในวิกฤตปี 40 ที่ไทยขาดดุลต่อเนื่อง (2) หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ (3) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และ (4) ความเปราะบางของตลาดการเงินไทยต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลกมีน้อย สะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยไม่สูงมาก (26% และ 9%) นอกจากนี้ ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยเช่นกัน เพราะสัดส่วนการพึ่งพาเงินทุนจากตลาดพันธบัตรมีไม่มาก โดยครัวเรือนและธุรกิจระดมทุนผ่านสินเชื่อ ธพ. 90% ขณะที่ทำผ่านพันธบัตรเพียง 10% (ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานะการเงินเข้มแข็งอยู่แล้ว) ส่วน ธพ. ไทยก็เน้นระดมทุนผ่านเงินฝากกว่า 70% เช่นกัน ไม่ได้มาจากตลาดพันธบัตร ทำให้การส่งผ่านความผันผวนในตลาดเงินมาทำให้เศรษฐกิจไทยต้องสะดุดลงมีน้อย  

 

ส่วนความเสี่ยงในมิติที่ 2 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งคาดว่าการส่งผ่านผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังอาจลดลง เพราะจีนหันมาเน้นพึ่งพาการเติบโตจากเครื่องยนต์ในประเทศ โดยที่ไทยเชื่อมโยงกับจีนสูง คือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันมีน้อยอยู่แล้ว แต่ยังต้องติดตามมาตรการเปิด-ปิดประเทศของจีนที่จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป 

 

มาตรการที่เราได้เตรียมไว้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ไม่สะดุด ต้องรองรับความเสี่ยงข้างต้นได้ ซึ่งได้ถูกออกแบบภายใต้หลักการสำคัญ คือ (1) เน้นขับเคลื่อนมาตรการให้เห็นผล (implementation) โดยนอกจากมาตรการมีองค์ประกอบที่ดี เพียงพอรองรับสถานการณ์แล้ว ก็ต้องมีการจัดการที่ดีและติดตามผลเพื่อผลักดันอย่างต่อเนื่องด้วย และ (2) ต้องยืดหยุ่น (flexible) และใช้ได้จริง (practical) ไม่ยึดติด สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ เช่น ธปท. ปรับเงื่อนไข soft loan เป็นสินเชื่อฟื้นฟู และปรับเพิ่มเติมให้ช่วยลูกหนี้ได้ครอบคลุมขึ้น และปรับการพักชำระหนี้วงกว้างเป็นการช่วยเหลือในลักษณะที่ยาวขึ้น  

อีกโจทย์สำคัญ คือ การวางรากฐานให้กับอนาคตเพื่อให้เท่าทันกระแสโลกใหม่ทั้งดิจิทัลและความยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่มาเร็วและแรง เพื่อให้เศรษฐกิจการเงินไทยทนทานและปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ดี 

 

ด้านดิจิทัล : ธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ซึ่ง ธปท. ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมเพื่อสนับสนุน โดยดำเนินการผ่าน 3 ด้าน ได้แก่ (1) Open competition: เพิ่มการแข่งขันโดยให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามา เช่น ธพ. ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) โดย ธปท. จะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง virtual bank เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชนในไตรมาส 2 (2) Open data: เพิ่มการใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้ได้ในวงกว้างขึ้น เช่น การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างธนาคารผ่าน API อย่างบริการ dStatement ที่จะปรับการให้บริการรับส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากในรูปแบบดิจิทัลระหว่าง สง. ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ปลายเดือนนี้ (3) Open infrastructure: เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลางซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาบริการทางการเงินรูปใหม่ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่หลากหลาย เช่น โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ที่จะลดภาระผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ มาเป็นรูปแบบดิจิทัลครบวงจร เช่น ใบแจ้งหนี้ เอกสารภาษี โดยบริการด้านสินเชื่อหรือ Digital Supply Chain Finance ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน และบริการเชื่อมโยงข้อมูลการค้าและชำระเงินแบบครบวงจร ที่คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ นอกจากนี้ ธปท. จะผลักดันการเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศสำหรับรายย่อยที่จะทำเพิ่มจากที่ทำไว้กับหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ โดยไปจับมือกับประเทศใหม่ เช่น ฮ่องกง อินเดีย เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถชำระหรือรับค่าสินค้าและบริการผ่าน QR code และแรงงานสามารถโอนเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจะทยอยดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 65 

 

อีกทั้งจะมีการทดสอบ Central Bank Digital Currency (CBDC) สำหรับรายย่อย ในรูปแบบของ Pilot ในวงจำกัดภายในปีนี้ เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการนำไปใช้ รวมทั้งให้มั่นใจในความปลอดภัยของระบบและผลกระทบเชิงนโยบายหากต้องออกใช้ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับต่างประเทศที่ส่วนใหญ่จะทดสอบในรูปแบบ Pilot เช่น จีน โดย ธปท. มองว่า CBDC เป็นองค์ประกอบของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งธนาคารกลางควรทำให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นถนนสายหลักที่เปิดกว้างให้เอกชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม 

 

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) และการปรับตัวเปลี่ยนผ่านสู่กระแส Green ที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด เพราะไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสูง ทั้งในภาคเกษตรที่มีแรงงานอยู่สูง (จากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น) การส่งออกที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในโลกเก่า (จากมาตรการที่สอดรับกับกระแส Green ของคู่ค้า) รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยระบบการเงินจะมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาและสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อวางรากฐาน (building blocks) สำคัญที่สอดคล้องกับบริบทไทย ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) มีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของ สง. (disclosure) เพื่อแสดงฐานะการเงินที่เชื่อมกับด้านสิ่งแวดล้อม (2) แนวทางการจำแนกกิจกรรมของภาคธุรกิจ (taxonomy) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับบริบทไทย เพื่อให้ สง. ใช้ประกอบการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ต้องปรับตัวในการลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (3) ผลักดันให้ สง. นำความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม เข้าเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการ เช่น การทำ stress testing หรือ scenario analysis (4) สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม แก่ผู้ให้และผู้ใช้บริการในภาคการเงิน เพื่อให้เร่งปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และ (5) พัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคการเงินในด้านนี้ 

 

การผลักดันเรื่อง sustainability จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและถือเป็น Whole governmental approach โดยในส่วนของภาคการเงินและ ธปท. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะทำหน้าที่สนับสนุนการปรับตัวของ สง. อย่างเต็มที่ และเพื่อป้องกันผลกระทบไม่ให้กลับมาเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินด้วย 

 

นอกจากนี้ ภายใต้กระแสโลกใหม่ที่มีความไม่แน่นอนสูงและพัฒนาการด้านการเงินเกิดขึ้นรวดเร็ว ธปท. จะต้องปรับแนวทางการกำกับดูแลให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัว สง. ซึ่งในการวาดภาพให้เห็นมุมมองของ ธปท. ต่อภูมิทัศน์ทางการเงิน (Financial Landscape) และทิศทางนโยบายทั้งในเรื่องดิจิทัล สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างธุรกิจของสถาบันการเงิน รวมทั้งสิ่งที่ ธปท. อยากเห็น และไม่อยากเห็น ธปท. จึงจะเผยแพร่ "Financial Landscape Consultative Paper" ในช่วงต้นเดือน ก.พ. 65 ซึ่งจะมีการจัด Public Briefing และรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ ก่อนจะปรับแนวนโยบายให้เหมาะสมต่อไป  

 

อีกรากฐานที่ ธปท. ยังผลักดันต่อเนื่อง คือ การทยอยปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อปรับสู่ FX ecosystem ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาด จากเดิมที่เงินทุนไหลเข้าง่าย ไหลออกยาก ให้การเคลื่อนย้ายของเงินทุนมีความสมดุลขึ้น โดยที่ผ่านมา เราเห็นคนไทยลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก โดยตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 63 ถึงไตรมาส 3 ปี 64 คนไทยมียอดออกไปลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศสูงถึง 21 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี และจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ การปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้น

การดำเนินงานนโยบายของ ธปท. ดูแลเศรษฐกิจไทยไม่ให้สะดุด
โจทย์ที่ 1 ดูแลเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
โจทย์ที่หนึ่ง ดูแลเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
โจทย์ที่สอง วางรากฐานให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง