ธปท. ชี้แจง กรณี S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ 4 ธนาคารพาณิชย์ไทย
ข่าว ธปท. ฉบับที่ 13/2565 | 22 มีนาคม 2565
ตามที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย (ธพ.) 4 แห่ง และคงความน่าเชื่อถือไว้ 2 แห่ง นั้น ธปท. ขอชี้แจงว่า ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ยังไม่เท่าเทียม ธปท. มีมาตรการสนับสนุนให้ ธพ. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์มาต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลาย (countercyclical) ที่เหมาะกับบริบทของไทย และไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลให้การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ธพ. และเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของ ธพ. อย่างใกล้ชิด โดยล่าสุด ฐานะการเงินของระบบ ธพ. ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 20 ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รายได้และ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อของ ธพ. ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย (ธพ.) 4 แห่ง และคงความน่าเชื่อถือไว้ 2 แห่ง ด้วยมีมุมมองว่าหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์ของทางการเอื้อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ของไทยทำได้มากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้มีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือจำนวนมาก นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวจากสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อ และอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อในอนาคต อย่างไรก็ดี S&P จัดให้ ธพ. ทั้ง 4 แห่ง มีแนวโน้มของอันดับความน่าเชื่อถือคงที่ (stable outlook) เนื่องจากยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินกองทุน และมีเงินสำรองในระดับสูง
นายรณดล ชี้แจงว่า ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่รุนแรงและยืดเยื้อ รวมทั้งการฟื้นตัวที่ยังไม่เท่าเทียม ธปท. มีมาตรการสนับสนุนให้ ธพ. ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์มาต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลาย (countercyclical) ที่เหมาะกับบริบทของไทย และไม่ต่างไปจากแนวทางประเทศต่าง ๆ โดยจะเห็นได้ว่า ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือปรับลดลงจากที่เคยสูงสุดที่ร้อยละ 30 ของสินเชื่อ ธพ. (ไม่รวม interbank) ในเดือนกรกฎาคม 2563 มาอยู่ที่ร้อยละ 14 ณ สิ้นปี 2564 และส่วนใหญ่ของลูกหนี้ที่ออกจากมาตรการไปแล้วสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ
ในขณะเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลให้การช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ธพ. และเสถียรภาพการเงิน ธปท. ได้ติดตามความเสี่ยง คุณภาพสินเชื่อ และฐานะของ ธพ. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ระบบ ธพ. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยล่าสุด ฐานะการเงินของระบบ ธพ. ไทยยังแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 20 โดยระหว่างปี 2563-2564 ธพ. ได้กันสำรองเพิ่มเติม 4.3 แสนล้านบาท สะท้อนความระมัดระวังของ ธพ. ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงสูงข้างต้น ซึ่งปัจจุบัน เงินสำรองของระบบ ธพ. อยู่ที่ 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นกว่า 1.6 เท่าของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio)
นอกจากนี้ ธปท. ได้ทดสอบระดับเงินกองทุนของ ธพ. (ระหว่างปี 2564-2566) ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าระบบ ธพ. ยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนสูงในอนาคต ในระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้รายได้และ ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงคุณภาพสินเชื่อของ ธพ. ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
22 มีนาคม 2565
คำถาม-คำตอบ เรื่อง ธปท. ชี้แจง กรณี S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทย
Q1 : การที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ ธพ. ไทย 4 แห่งในครั้งนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อ ธพ.
A1 : การปรับลด rating อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นของ ธพ. ปรับลดลงในระยะสั้น และต้นทุนการระดมทุนปรับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป แต่คาดว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงนัก เพราะ ธพ. ไทยพึ่งพาการระดมทุนผ่านเงินฝากเป็นสำคัญ ขณะที่การระดมทุนจากตลาดทุนหรือต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก รวมทั้ง ธพ. ได้ทยอยระดมทุนไว้แล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ประกอบกับ ธพ. ยังมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง
Q2 : การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน การปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธพ. ต่อไปหรือไม่
A2 : การปรับลด rating ในครั้งนี้จะไม่กระทบต่อผู้ฝากเงิน และการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินของ ธพ. เพราะ ธพ. ยังมีฐานะแข็งแกร่ง จึงสามารถระดมทุนและปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวจากวิกฤตได้ ซึ่งจะทำให้คุณภาพสินเชื่อของ ธพ. ปรับดีขึ้นเช่นกัน
Q3 : ธปท. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป กับ ธพ. ที่ถูกปรับลดอันดับเครดิตรอบนี้
A3 : ธปท. ได้ติดตามและกำกับดูแล ธพ. มาโดยตลอด (ongoing supervision) และได้มีการดูแลให้ ธพ. ทุกแห่งในระบบให้มีเงินกองทุน และสำรองอยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตอยู่แล้ว
Q4 : ความเสี่ยงด้านเครดิตของ ธพ. จากแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเป็นอย่างไร
A4 : คาดว่าความเสี่ยงด้านเครดิตของ ธพ. จะทยอยลดลง ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพในระยะสั้น รวมถึงมาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลอดจนการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง (structural issues) ทั้งการยกระดับศักยภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน
Q5 : นอกเหนือจาก S&P ปรับลด rating ธพ. ในครั้งนี้แล้ว มีบริษัทจัดอันดับเครดิตรายอื่น ๆ ที่ปรับลด rating ธพ. อีกหรือไม่
A5 : ยังไม่พบบริษัทจัดอันดับเครดิตรายอื่นที่ปรับลด rating ธพ. ทั้งนี้ Fitch rating ได้ปรับลด rating ธพ. ไทยบางแห่ง และ Moody’s ปรับลดแนวโน้ม (outlook) ธพ. ไทย จาก Positive เป็น Stable เมื่อ เม.ย. 2563 โดยเป็นการปรับลดทั้งภูมิภาค