ธปท. สรุปความคิดเห็นที่ได้จากการเปิดรับฟังต่อแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 15/2565 | 25 มีนาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ

จากการที่ ธปท. ได้เปิดรับฟังความเห็นแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) ในภาพรวม ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นด้วยกับหลักคิดของ ธปท. ในการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 ทิศทาง

1. ขอให้ ธปท. เร่งให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง 3 ด้านของ ธปท.

2. ขอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางการดูแลความเสี่ยงและผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน

3. ผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน 

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (consultation paper) และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชนในช่วงวันที่ 1 - 28 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น ในภาพรวม ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นด้วยกับหลักคิดของ ธปท. ในการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 ทิศทางคือ (1) เปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 open (open competition, open infrastructure และ open data) (2) สนับสนุนให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจการเงินดิจิทัลและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และ (3) กำกับดูแลอย่างยืดหยุ่นและสร้างภูมิคุ้มกันให้ภาคการเงินรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างเท่าทัน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าความท้าทายสำคัญ คือ การผลักดันแนวนโยบายภายใต้ทิศทางดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติ และมีข้อเสนอแนะสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (รายละเอียดดังตารางสรุปความเห็นแนบ)

 

1. ขอให้ ธปท. เร่งให้แนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับทิศทาง 3 ด้านของ ธปท. โดยเฉพาะในเรื่อง 

 

1.1 การเปิดให้ผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการเปิดให้ขอจัดตั้งธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัลหรือ virtual bank และการให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้ามาทดลองหรือพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินได้ยืดหยุ่นขึ้น รวมถึงทดลองหรือประยุกต์ใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเรียนรู้กลไกและการนำไปเพิ่มมูลค่า ตลอดจนประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินได้

 

1.2 การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นเหมาะสมกับความเสี่ยง แต่มีความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการที่ประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงลักษณะเดียวกัน (level playing field) 

 

1.3 การผลักดันให้ผู้เล่นรายใหม่และรายเดิมสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานกลางและข้อมูลได้อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

 

1.4 บทบาทของภาคสถาบันการเงินในเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรฐานที่สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามในเรื่องนี้

 

2. ขอให้ ธปท. พิจารณาแนวทางการดูแลความเสี่ยงและผลข้างเคียงอย่างรอบด้าน ได้แก่ 

 

2.1 ดูแลผู้ใช้บริการทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การให้ความรู้และคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะบริการทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้บริการยังไม่คุ้นเคย การมีมาตรการรองรับสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมปรับตัวเข้าสู่การเงินดิจิทัล และไม่พร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการดูแลไม่ให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันให้สินเชื่อจนทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้น 

 

2.2 ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน อาทิ การเปิดให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาแข่งขันและเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานกลาง ที่ต้องกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้เป็นจุดอ่อน (weakest link) และส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม

 

3. ผลักดันให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องระดับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องมีสิ่งจูงใจ (incentive) เพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น มาตรการด้านภาษี และช่วยกระตุ้นให้ประชาชนปรับพฤติกรรมทางการเงิน เช่น ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือการใช้เกม (gamification) ช่วยในการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่จูงใจ และช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาใช้ประกอบการกำหนดทิศทางและแนวทางการดำเนินการด้านต่าง ๆ ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยจะทยอยเผยแพร่เอกสารทิศทางและแนวนโยบายด้านต่าง ๆ ได้แก่ การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัล การพัฒนาระบบการชำระเงินไทย การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน และร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง virtual bank ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 และทิศทางของ open banking ประมาณไตรมาส 3 ปี 2565 เพื่อรับฟังความคิดเห็นในแต่ละเรื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
25 มีนาคม 2565

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีม Financial Landscape
โทรศัพท์ : 0 2283 6684 / 0 2283 5865
E-mail : finlandscape@bot.or.th

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีม Financial Landscape

0 2283 6684

finlandscape@bot.or.th