ธปท. ผ่อนคลายเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของคนไทยภายใต้แผนผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ใหม่

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 22/2565 | 18 เมษายน 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ใหม่มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย โดยผ่อนคลายให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินมีความสมดุลมากขึ้นทั้งด้านเงินขาเข้าและขาออก
  • เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2565 สาระสำคัญ ดังนี้ 1. ผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของคนไทย 2. ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น 3. ลดภาระการแสดงเอกสารในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน เปิดเผยว่าตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผลักดันระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ใหม่มาตั้งแต่ปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนไทย โดยผ่อนคลายให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินมีความสมดุลมากขึ้นทั้งด้านเงินขาเข้าและขาออก เพิ่มความสะดวกในการลงทุนและทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของภาคเอกชน 

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ธปท. ได้ดำเนินการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดในเดือนเมษายน 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 

 

1. ผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของคนไทย ทั้งในมิติการโอนเงินออกนอกประเทศ และการชำระระหว่างกันในประเทศ โดย

1) ยกเลิกวงเงินเพื่อโอนไปให้กู้ยืมแก่กิจการนอกเครือในต่างประเทศ และไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ (เดิมมีวงเงิน 50 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อปี) และเพิ่มวัตถุประสงค์การโอนเงินที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจาก ธปท. เป็นรายกรณี เช่น การซื้อหรือโอนเงินไปฝากเข้าบัญชีตนเองในต่างประเทศ เพื่อชำระรายจ่ายในต่างประเทศ

2) ให้ผู้ประกอบการไทยซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อโอนชำระรายจ่ายระหว่างกันภายในประเทศได้ ตามความจำเป็น เช่น การชำระค่าสินค้าที่กำหนดราคาอ้างอิงตลาดโลก (เดิมการโอนระหว่างกันทำได้ผ่านบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศเท่านั้น)

 

2. ให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (hedge) จากการซื้อขายสินค้าที่กำหนดราคาอ้างอิงตลาดโลกกับ คู่ค้าในประเทศ การ hedge แทนกิจการในเครือในประเทศ การ hedge ประมาณการรายรับรายจ่ายเงินตราต่างประเทศที่มากกว่า 1 ปี รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนบนงบการเงิน (balance sheet hedge) เพื่อให้ ผู้ประกอบธุรกิจทั้งผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการใน supply chain สามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวขึ้น จากเดิมที่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี

 

3. ลดภาระการแสดงเอกสารในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ โดยลูกค้าที่ผ่านกระบวนการ Know Your Business ของธนาคารพาณิชย์ ไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (เดิมต้องแสดงเอกสารรายธุรกรรม) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและภาระด้านเอกสาร ตลอดจนเอื้อต่อการให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์

 

การผ่อนคลายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
18 เมษายน 2565

เกณฑ์ FX ใหม่

ข้อมูลเพิ่มเติม

สายตลาดการเงิน

0-2356-7349, 0 2356 7859

FOG_ECST@bot.or.th