แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม ปี 2565

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 32/2565 | 30 มิถุนายน 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวตามรายจ่ายลงทุนเป็นสำคัญ
  • ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานโดยรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายในเกือบทุกหมวด สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron ที่น้อยลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงลดลงจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นหลัก สอดคล้องกับอุปสงค์โดยรวมที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงบ้างหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อนตามยอดขายวัสดุก่อสร้าง 

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอาเซียนและอินเดีย เป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางอย่างต่อเนื่องจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว ประกอบกับการส่งออกผลไม้ไปจีนเร่งขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกบริหารจัดการปัญหาการขนส่งได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนปรับลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการผลิตหมวดยานยนต์ที่ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต อย่างไรก็ดี การผลิตในหลายหมวดยังคงปรับเพิ่มขึ้น อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดปิโตรเลียม 

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด ทั้งหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง หมวดสินค้าทุน และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม 

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากรายจ่ายลงทุนซึ่งมีการทยอยเบิกจ่ายของรัฐบาลกลางไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลดลง เนื่องจากการก่อสร้างเกิดความล่าช้าในโครงการคมนาคม สำหรับรายจ่ายประจำทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ตามการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากราคาในหมวดอาหาร และผลของฐานค่าน้ำประปาที่ต่ำในปีก่อนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นจากการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ แม้ดุลการค้าจะเกินดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค เป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

30 มิถุนายน 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมเศรษฐกิจมหภาค 1-2

0 2283 5639, 0 2283 5647

EPD-MacroEconomicsTeam1-2@bot.or.th