ความคืบหน้าการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail CBDC)

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 39/2565 | 05 สิงหาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย
  • การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ

นางสาววชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อให้ประชาชนใช้งาน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC1) เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนา เนื่องจากมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาระบบการเงินในอนาคต

 

ธปท. เป็นธนาคารกลางแรก ๆ ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของ CBDC ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกสบายและมีความหลากหลายมากขึ้น พร้อมกับต้นทุนที่ลดลง นอกจากโครงการ Wholesale CBDC ต่าง ๆ2  และการทดสอบ Retail CBDC ร่วมกับภาคธุรกิจในห้องปฏิบัติการ (Proof of Concept) แล้ว ธปท. ยังเห็นความจำเป็นที่จะขยายขอบเขตการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC ไปสู่การใช้งานจริงในวงจำกัด (Pilot) ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อประเมินถึงประโยชน์และความเสี่ยง รวมทั้งกำหนดนโยบายและปรับปรุงการออกแบบ CBDC ในอนาคต โดยแผนการทดสอบ Retail CBDC ระยะ pilot นี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

 

1. การทดสอบระดับพื้นฐาน (Foundation track) เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบ รวมถึงรูปแบบของการนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริงกับประชาชนรายย่อย โดยจะทดสอบการนำมาใช้ชำระค่าสินค้าบริการในพื้นที่เฉพาะ และในกลุ่มผู้ใช้งานประมาณ 10,000 ราย ที่กำหนดโดย ธปท. และภาคเอกชนที่ร่วมทดสอบ 3 ราย3  ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการทดสอบนี้จะนำเทคโนโลยีของบริษัท Giesecke+Devrient4 มาประยุกต์ใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ไปจนถึงกลางปี 2566

 

2. การทดสอบระดับนวัตกรรม (Innovation track) ด้านความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดบน Retail CBDC ทำให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย และช่วยให้ ธปท. นำมาปรับปรุงการออกแบบ CBDC ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยในอนาคต ทั้งนี้ ธปท. จะเปิดให้ภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมนำเสนอรูปแบบทางธุรกิจ (Use cases) ในการพัฒนาต่อยอด Retail CBDC ผ่านโครงการ "CBDC Hackathon" ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมได้ระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม - 12 กันยายน 2565 โดยทีมหรือผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ จะได้รับคำปรึกษา (Mentoring) จากสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในโครงการอินทนนท์5 (ติดตามรายละเอียดได้จากเว็บไซต์ ธปท.)  

 

ธปท. ขอย้ำว่าการทดสอบ Retail CBDC นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและพัฒนา Retail CBDC เพื่อประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีและการออกแบบ รวมถึงการนำไปต่อยอดบริการให้กับประชาชน โดย ธปท. ยังไม่มีแผนที่จะออก Retail CBDC เนื่องจากการออก CBDC ต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน เพราะอาจส่งผลต่อระบบการเงินของประเทศได้

 

นอกจากนี้ ธปท. ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการแอบอ้างในรูปแบบต่าง ๆ ว่าสามารถให้บริการ Retail CBDC ได้ หรือหลอกให้ลงทุนใน Retail CBDC ของ ธปท. เนื่องจากการทดสอบนี้ จะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานที่ถูกระบุไว้ก่อนแล้วเท่านั้น

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
5 สิงหาคม 2565

 


1) Retail CBDC เป็นเงินในรูปแบบธนบัตรที่ถูกพัฒนาให้กลายสภาพเป็นรูปแบบเงินดิจิทัล ทำให้การถือ Retail CBDC เทียบเท่ากับการถือธนบัตร ซึ่งไม่มีความเสี่ยง
2) โครงการ Inthanon (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2) โครงการ Inthanon-LionRock (ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ทดสอบร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง) และภายหลังโครงการ Inthanon-LionRock ได้ขยายเป็นโครงการ“mBridge” ที่มีธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางจีนเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังได้ขยายการทดสอบไปสู่ภาคธุรกิจเอกชน โดยทำร่วมกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด เป็นผู้ร่วมพัฒนาทดสอบ
3) ธปท. กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกภาคเอกชนให้เข้าร่วมทดสอบเพียง 3 ราย เนื่องจากเป็นการทดสอบในวงแคบ ภายใต้ระยะเวลาจำกัด
4) เทคโนโลยี Giesecke+Devrient มีคุณลักษณะสอดคล้องกับรูปแบบที่ ธปท. ต้องการทดสอบ โดยเฉพาะการรักษาความลับของข้อมูล (Privacy) และระบบการรักษาความปลอดภัย (Security) 
5) สถาบันการเงินที่เข้าร่วมในโครงการอินทนนท์ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมงานสกุลเงินดิจิทัล กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร

0 2356 7066

DigitalCurrencyTeam@bot.or.th