ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเสนอ “APEC Policy Considerations
for Developing Cross-Border Payments and Remittances”
และจัดแสดงนวัตกรรมการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์
(Digital Payment) ณ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค
ครั้งที่ 29 วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565
ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ข่าว ธปท. ฉบับที่ 57/2565 | 21 ตุลาคม 2565 113 คน
ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด และ 5 ธนาคารพาณิชย์นำร่องจัดแสดงนวัตกรรมการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) ประกอบด้วย Cross-border QR Payment และ Digital Supply Chain Solution
ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ในปีนี้ หรือ เอเปค 2022 (APEC 2022) ภายใต้แนวคิด "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" หรือ "Open. Connect. Balance." ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีส่วนร่วมผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยกับ 4 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย และได้จัดทำแนวปฏิบัติการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจ ภายใต้ชื่อ "APEC Policy Considerations for Developing Cross-Border Payments and Remittances” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสมาชิกเอเปคอื่น ๆ นำไปประยุกต์ใช้ในการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจในอนาคต โดยได้นำเสนอแนวปฏิบัติดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ครั้งที่ 29 ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด และ 5 ธนาคารพาณิชย์นำร่อง ได้แก่ กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงนวัตกรรมการชำระเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Payment) ประกอบด้วย Cross-border QR Payment และ Digital Supply Chain Solution โดยได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ผู้แทนจากกระทรวงการคลังของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้แทนจากธนาคารกลางเวียดนาม ร่วมแสดงการใช้บริการชำระเงินระหว่างเขตเศรษฐกิจด้วย QR Code ผ่านการใช้ mobile banking ร่วมกับ น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ซึ่งบริการดังกล่าวช่วยสร้างประสบการณ์ชำระเงินให้เหมือนการใช้ mobile banking อยู่ในประเทศตนเอง ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา กล่าวว่า "การเชื่อมโยงบริการชำระเงินจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และบริการต่าง ๆ ในภูมิภาค ทำให้ประชาชนและธุรกิจสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้รวดเร็ว ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และเข้าถึงผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น ในระยะต่อไปเมื่อการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินนี้ได้ขยายไปยังสมาชิกเอเปคอื่น ๆ จะช่วยทำให้ความร่วมมือทางการเงินและเศรษฐกิจในเอเปคเข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น"
ธนาคารแห่งประเทศไทย
21 ตุลาคม 2565