ผลการทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางมาใช้สำหรับการโอนเงิน ระหว่างประเทศภายใต้โครงการ mBridge และการดำเนินโครงการในระยะถัดไป

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 58/2565 | 26 ตุลาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates: CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People’s Bank of China: PBC DCI)
  • การสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub: BISIH) ณ ฮ่องกง ทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ใน 4 สกุล มาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ในปี 2564

​นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates: CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People’s Bank of China: PBC DCI) โดยการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub: BISIH) ณ ฮ่องกง ทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ใน 4 สกุล มาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศในธุรกรรมจริงเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ที่พัฒนาต่อยอดจากโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ในปี 2564

 

การทดสอบโครงการ mBridge เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม ถึง 23 กันยายน 2565 โดยครอบคลุมการทำธุรกรรม 3 ประเภท ได้แก่ (1) การออกใช้ CBDC (issuance) ของธนาคารกลาง และแลกคืน CBDC (redemption) กับธนาคารกลาง (2) การโอน CBDC ระหว่างประเทศ ด้วยเงินสกุลท้องถิ่นหรือสกุลปลายทางที่มีอยู่ (Cross-border CBDC payment) ผ่านธนาคารพาณิชย์ (ธพ.)และ (3) การแลกเปลี่ยน CBDC สองสกุล ระหว่าง ธพ. (Cross-border exchange of CBDC) ทั้งนี้ ในการทดสอบ มี ธพ. เข้าร่วมทั้งหมด 20 ราย จากทั้ง 4 ประเทศ โดยเป็น ธพ. จากประเทศไทยจำนวน 5 ราย1 ซึ่งมีธุรกรรมระหว่างประเทศจำนวน 164 ธุรกรรม คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 22 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 827 ล้านบาท)2

 

จากผลการทดสอบพบว่า การทำธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศบนระบบ mBridge ด้วย CBDC สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศได้เทียบกับระบบในปัจจุบัน โดยลดการพึ่งพาธนาคารตัวแทนต่างประเทศ (correspondent banks) ซึ่งช่วย (1) ลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศลงเหลือเป็นหลักวินาที (จากเดิมเฉลี่ย 3-5 วัน) (2) ลดต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนเงิน (3) ลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล (settlement risk) และ (4) เอื้อต่อการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สามารถอ่านรายละเอียดของโครงการ mBridge เพิ่มเติมได้ในรายงาน "Project mBridge: Connecting economies through CBDC"

 

ในระยะต่อไป การดำเนินโครงการ mBridge จะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาระบบและคุณสมบัติต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมกับคำนึงถึงนัยยะต่อการกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ และกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องสำหรับการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศ โดย ธปท. จะพิจารณาความเหมาะสมในการขยายขอบเขตการพัฒนาและทดสอบในบริบทของการนำมาใช้จริงต่อไป 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
26 ตุลาคม 2565


1) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด, ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (สาขากรุงเทพฯ)
2) ธุรกรรมระหว่างประเทศของ ธพ. ที่เข้าร่วมทั้งหมด โดยไม่รวมธุรกรรมประเภทการออกใช้ CBDC ของธนาคารกลาง และแลกคืน CBDC กับธนาคาร

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ทีมงานสกุลเงินดิจิทัล

02 356 7077

DigitalCurrencyTeam@bot.or.th