ประเด็นสำคัญจาก BOT Digital Finance Conference 2022 วันที่ 28 ตุลาคม 2565

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 61/2565 | 30 ตุลาคม 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าของการพัฒนา Retail Central Bank Digital Currency (retail CBDC) รวมทั้งการออกจาก regulatory sandbox ของโครงการระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain) โดยธนาคารพาณิชย์ 18 แห่ง ในงาน BOT Digital Finance Conference 2022 วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าของการพัฒนา Retail Central Bank Digital Currency (retail CBDC) รวมทั้งการออกจาก regulatory sandbox ของโครงการระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain) โดยธนาคารพาณิชย์ 18 แห่ง ในงาน BOT Digital Finance Conference 2022 วันที่ 28 ตุลาคม 2565 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. โดยมีประเด็นสำคัญจากการเสวนาเวทีหลัก ดังนี้

 

1. ความคืบหน้าโครงการ CBDC ของ ธปท. และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา retail CBDC ของต่างประเทศ

ธปท. พัฒนาโครงการ CBDC ทั้งสำหรับธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC) มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่า CBDC มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้างสำหรับผู้เล่นทุกประเภท รวมทั้งสามารถต่อยอดนวัตกรรม และเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในการเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลที่ปลอดภัย  อย่างไรก็ดี ธปท. ยังไม่มีแผนจะออก Retail CBDC เนื่องจากต้องพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงอย่างรอบด้านก่อน  โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบการใช้งาน retail CBDC ในวงจำกัดร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นไป  และได้จัด retail CBDC hackathon ขึ้นเพื่อเปิดรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ use case ที่น่าสนใจสำหรับการต่อยอด retail CBDC ด้วยความสามารถในการเขียนโปรแกรม (Programmability) ซึ่งมีผู้สนใจส่ง use case เข้าร่วมแข่งขันกว่า 100 ทีม  ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า retail CBDC hackathon เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่าง ธปท. และภาคเอกชน โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถสร้างประโยชน์อย่างแท้จริงต่อระบบการเงินของประเทศ 

 

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ "Retail CBDC Pilots: Challenges and Lessons Learned from the Pioneers" ได้แบ่งปันประสบการณ์ของการพัฒนา retail CBDC ในราชอาณาจักรสวีเดน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า CBDC ไม่ได้จะมาแทนที่เงินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน (physical cash) แต่จะเป็นส่วนเสริมที่ช่วยประชาชนให้เข้าถึงเงินได้อย่างสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานและเพิ่มเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมทั้งช่วยป้องกันการฟอกเงิน  อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนในประเด็นกฎหมายและกฎเกณฑ์ก่อนจะเริ่มใช้ CBDC จริง

 

2. การเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล

ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ "Beyond Traditional Finance: Unleashing Opportunities for Digital Finance" เห็นว่า เทคโนโลยีอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile technology) Application Programming Interface (API) และ Blockchain จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่เปิดกว้างให้สามารถร่วมกันต่อยอดบริการ (open source) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์และความประทับใจของผู้ใช้งานทั้งในภาคธุรกิจจริงและภาคการเงินจากการทำธุรกรรมได้รวดเร็วและมีคุณค่าสำหรับลูกค้ายิ่งขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนที่ต่ำลง  

 

ส่วนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ "Digital Assets: The Good, the Bad, and the Future" เห็นว่า แม้สินทรัพย์ดิจิทัลบางส่วนอาจมีประเด็นเรื่องการเก็งกำไร แต่ในหลายกรณีก็อาจนำมาพัฒนาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกรรมภายใต้ระบบการเงินปัจจุบันได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติด้าน programmability และ composability (ความสามารถในการนำ application หรือรูปแบบวิธีการต่าง ๆ มาต่อยอดให้ทำงานร่วมกันและทำให้เกิดเป็นบริการทางการเงินใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาใหม่ตั้งแต่ต้น) ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด responsible innovation และป้องกันการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) ในอนาคต หน่วยงานกำกับดูแลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกันยิ่งขึ้น

 

3. การประยุกต์ใช้ Blockchain

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. เปิดเผยในการแถลงข่าวเกี่ยวกับโครงการระบบหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (e-LG on Blockchain) ของธนาคาร 18 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (BCI) ว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox ธปท. แล้ว และพร้อมให้บริการในวงกว้าง  

 

นอกจากนี้ ในการเสวนาหัวข้อ "Blockchain: Opportunity for Digital Finance" ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า Blockchain สามารถช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ และการสื่อสารระหว่างผู้ที่อยู่ในเครือข่ายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศน์ของ Blockchain เพื่อสนับสนุนให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับทั้งด้านบุคลากร เงินทุน และกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่ควรคำนึงถึงทั้งการส่งเสริมนวัตกรรมและการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเพียงพอ 

 

4. Cybersecurity

ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ "Cyber Vigilance: Getting Ready for Future Cyber Threats" เน้นย้ำถึงโอกาสเกิดภัยไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ภาคธุรกิจจึงควรเฝ้าระวังให้พร้อมรองรับความเสี่ยงในอนาคตไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด  กล่าวคือ ต้องทั้งเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อมาประยุกต์ใช้ดำเนินงานและเตรียมความพร้อมให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที โดยสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงและประเด็นต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบ จัดลำดับความสำคัญเกี่ยวกับแต่ละความเสี่ยง  รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้จัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของผู้บรรยายหัวข้อ "The New Financial Revolution" ที่ว่า องค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทั้งการปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วและการดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ามีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ไม่ใช่เป็นภาระ

 

นอกจากการเสวนาต่าง ๆ ข้างต้น ธปท. ยังได้เชิญผู้บริหาร unicorn startup ของไทยมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันประสบการณ์การทำธุรกิจในโลกดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะที่สุดกับโจทย์ที่อยากพัฒนา ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุด (2) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อต่อยอดและยกระดับการให้บริการให้ตรงความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้ และ (3) การคิดไกล มองกว้าง และสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม 

 

หมายเหตุ: สรุปประเด็นสำคัญจาก BOT Digital Finance Conference 2022 วันที่ 27 ตุลาคม 2565 (https://bit.ly/3FymDHd

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 ตุลาคม 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

0 2283 6892

fintechdept@bot.or.th