การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 65/2565 | 15 พฤศจิกายน 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ สามารถขึ้นทะเบียนกับธนาคารเห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทดสอบการให้บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ (sandbox) เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการได้
  • ปรับการให้ใบอนุญาตจากเดิมที่เป็นรายสถานประกอบการ เป็นรายนิติบุคคล โดยให้ใช้ใบอนุญาตได้กับสถานที่ประกอบธุรกิจทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ สาขา และช่องทางให้บริการของนิติบุคคลนั้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจ
  • กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจข้างต้น ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น กำหนดลักษณะต้องห้ามให้ครอบคลุมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามหลักสากลยิ่งขึ้น และเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อประชาชนผู้ใช้บริการ 

นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2565) ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ1 ให้ยืดหยุ่นและคล่องตัว รองรับการประกอบธุรกิจที่เป็นนวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเพื่อยกระดับมาตรฐานกำกับดูแลการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศให้น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ดังนี้

 

1. ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ สามารถขึ้นทะเบียนกับธนาคารเห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทดสอบการให้บริการด้วยนวัตกรรมใหม่ (sandbox) เพื่อรองรับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการได้

 

2. ปรับการให้ใบอนุญาตจากเดิมที่เป็นรายสถานประกอบการ เป็นรายนิติบุคคล โดยให้ใช้ใบอนุญาตได้กับสถานที่ประกอบธุรกิจทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงานใหญ่ สาขา และช่องทางให้บริการของนิติบุคคลนั้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจ

 

3. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจข้างต้น ต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น กำหนดลักษณะต้องห้ามให้ครอบคลุมถึงผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามหลักสากลยิ่งขึ้น และเพิ่มความน่าเชื่อถือต่อประชาชนผู้ใช้บริการ 

 

ทั้งนี้ ธปท. จะได้ดำเนินการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าวต่อไป การปรับปรุงกฎกระทรวงในครั้งนี้ ยังจะช่วยเอื้อต่อแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์ของการประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ (FX Service Provider Landscape) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ (FX Ecosystem) ที่ ธปท. จะดำเนินการในระยะต่อไป เช่น การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมและสนับสนุนให้มีผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม non-bank และการปรับเกณฑ์ให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบ

ธุรกิจเงินตราต่างประเทศ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการด้านเงินตราต่างประเทศของรายย่อย อันจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้ใช้บริการทั้งด้านต้นทุนและทางเลือกการใช้บริการที่หลากหลายต่อไป

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 พฤศจิกายน  2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน

0 2356 7346, 0 2356 7348

FOG_ECST@bot.or.th