แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม ปี 2565

ข่าว ธปท. ​ฉบับที่ 67/2565 | 30 พฤศจิกายน 2565

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะได้รับแรงกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว และปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อยังปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
  • เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องและอยู่ในระดับใกล้เคียงช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ 1) หมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า 2) หมวดเคมีภัณฑ์ที่ลดลงต่อเนื่องตามการส่งออกไปจีน หลังจากจีนมีนโยบายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และ 3) หมวดปิโตรเลียมที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ดี หมวดสินค้าเกษตร รวมทั้งยานยนต์และชิ้นส่วนปรับดีขึ้นในบางสินค้า อาทิ การส่งออกข้าวและรถยนต์นั่งไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะหมวดปิโตรเลียมที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมถึงหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การผลิตหมวดวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคก่อสร้าง

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดขายวัสดุก่อสร้างที่ปรับดีขึ้น

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่ลดลงมากตามน้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น นอกจากนี้ การนำเข้าก๊าซธรรมชาติปรับลดลงจากราคาเป็นสำคัญ หลังจากปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรปปรับดีขึ้น  

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับผู้บริโภคบางส่วนชะลอการซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนลดลงเล็กน้อยจากสถานการณ์น้ำท่วมในบางพื้นที่ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนตามรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวจากผลของฐานที่มีการเบิกจ่ายสูงในปีก่อน ขณะที่รายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว ตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านพลังงานและสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางระยะใกล้ (short-haul) อาทิ ฮ่องกง และไต้หวัน เพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากเดือนก่อน ตามราคาหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามราคาอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาดและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลงจากการลดลงของรายจ่ายค่าระวางสินค้า ประกอบกับรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลลดลงเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามเงินดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดกว่าที่ตลาดคาดการณ์

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 พฤศจิกายน 2565

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639

macroeconomic-epd@bot.or.th