ธปท. และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 14 หน่วยงานได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ข่าว ธปท. ฉบับที่ 15/2566 | 24 มีนาคม 2566
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 14 หน่วยงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566
การลงนามในบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาฐานข้อมูลที่สามารถสะท้อนสถานะหนี้และศักยภาพทางเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกรจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่สำคัญของประเทศ อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษา และสร้างความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาหนี้ของครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ในการให้ผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินสามารถนำไปใช้ออกแบบและผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้อย่างตรงจุดและยั่งยืนขึ้น
โดยฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรที่จะนำมาเชื่อมโยงกันภายใต้ความร่วมมือนี้ ประกอบไปด้วย ฐานข้อมูลหนี้สินและทรัพย์สินของครัวเรือนจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ปศุสัตว์ ประมง และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ จากกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และการยางแห่งประเทศไทย ฐานข้อมูลที่สะท้อนศักยภาพในการทำเกษตร เช่น การจดทะเบียนมาตรฐานสินค้าและการทำเกษตรอินทรีย์จาก กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน ฐานข้อมูลที่สะท้อนโครงสร้างอาชีพ รายได้ และความยากจนในหลายมิติของเกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จากสำนักงานปลัดการทรวงการคลัง ฐานข้อมูลรายได้และสวัสดิการ จากกรมการพัฒนาชุมชน และฐานข้อมูลความเหมาะสมในการทำการเกษตร จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดย ธปท. จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการข้อมูล และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยให้คำปรึกษาและสนับสนุน เพื่อให้การใช้ประโชน์จากข้อมูลร่วมกันเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อมูลที่ได้จากความร่วมมือครั้งนี้จะมีประโยชน์กับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและสถาบันการเงินในการผลักดันแนวทางในการแก้ไขหนี้สินเกษตรกรอย่างเป็นองค์รวม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์กลับไปสู่ครัวเรือนเกษตรกรในวงกว้าง ได้แก่ 1) การใช้ข้อมูลในการศึกษา ออกแบบและผลักดันแนวทางการแก้หนี้เดิมที่สามารถช่วยให้ครัวเรือนชำระหนี้ได้มากขึ้นและสามารถปลดหนี้ได้ในระยะยาว 2) การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการปล่อยหนี้ใหม่อย่างยั่งยืน ทั่วถึง ตอบโจทย์ และตามข้อมูลความเสี่ยงที่แท้จริงของครัวเรือน และ 3) การใช้ข้อมูลในการออกแบบแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกัน ความรู้ทางการเงิน และการผสานการแก้หนี้กับโครงการเพิ่มรายได้และศักยภาพของครัวเรือนเกษตรกร
นอกจากนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบสำคัญของการสร้างความร่วมมือทางด้านข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายสาธารณะอีกด้วย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
23 มีนาคม 2566