สรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2566 ของ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office ระหว่างวันที่ 3-10 สิงหาคม 2566

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 36/2566 | 17 สิงหาคม 2566

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 คณะผู้แทนจาก ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) นำโดย Dr. Kouqing Li ผู้อำนวยการ และ Dr. Hoe Ee Khor หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เข้าพบนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน เพื่อรายงานผลการสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

AMRO ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2566 และร้อยละ 3.9 ในปี 2567 จากอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ในปี 2566 จากราคาอาหารที่ลดลง และร้อยละ 2.0 ในปี 2567 จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ฐานะด้านต่างประเทศของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และเพียงพอรองรับต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

 

ด้านนโยบายการเงิน ผู้แทน AMRO เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภาวะการเงิน อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไป ทิศทางในการดำเนินนโยบายการเงินยังขึ้นกับพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงสำคัญจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีนที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยและภาคการท่องเที่ยวสูง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

 

ด้านเสถียรภาพการเงิน ผู้แทน AMRO เห็นว่า การทยอยปรับลดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินในช่วงโควิด-19 ให้เข้าสู่ระดับปกติ มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับการออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ที่จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูงและมีความเปราะบาง โดยอาจต้องหาแนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การเปลี่ยนไปพึ่งพาแหล่งทุนนอกระบบ

 

สำหรับนโยบายการคลัง ผู้แทน AMRO สนับสนุนการลดขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะการถอนมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 และมาตรการของภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนราคาพลังงานจากการที่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและราคาพลังงานที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญจะช่วยรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังไว้ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

ในระยะยาว ไทยควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนจากภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานที่จะช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตและผลิตภาพแรงงาน นอกจากนี้ ไทยควรเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์ และจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศด้วย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amro-asia.org/thailand-sustaining-recovery-amid-uncertainty-and-revitalizing-long-term-growth/

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
17 สิงหาคม 2566 

01
2
3

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

0 2283 6288, 0 2283 5190

IND-Cooperation@bot.or.th

อื่นๆ