ประเด็นสำคัญจาก BOT Digital Finance Conference 2023 วันที่ 15 กันยายน 2566

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 41/2566 | 18 กันยายน 2566

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงาน BOT Digital Finance Conference 2023 ภายใต้แนวคิด Building Ecosystem for Responsible Innovation ระหว่างวันที่ 14 – 15 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ 85 รายจาก 15 ประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเงินดิจิทัล การปรับใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในภาคการเงิน โดยเฉพาะ Artificial Intelligence (AI) การใช้ประโยชน์จาก Open Data และการสนับสนุนนวัตกรรมที่ดูแลความเสี่ยงบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (responsible innovation)  ทั้งนี้ การเสวนาเวทีหลักในวันที่ 15 กันยายน 2566 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1.  AI กับภาคการเงิน   

 

สำหรับ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่เป็นกระแสในขณะนี้ ซึ่งสามารถสร้างเนื้อหาใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ และเพลง ได้เองจากการเรียนรู้ชุดข้อมูลที่มีอยู่เดิม ผู้บรรยายหัวข้อ “Generative AI: Possibilities in Financial Services and Journey Towards Adoption” เห็นว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและนำเสนอบริการตามความต้องการเฉพาะบุคคลได้ในวงกว้าง (mass personalization) และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำ ๆ (repetitive) เพื่อให้พนักงานมีเวลาทำงานอื่น ๆ ที่สำคัญยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีนี้ เช่น การสร้างข้อมูลเท็จ การใช้วิธีการทางจิตวิทยาเพื่อหลอกโจรกรรมข้อมูล ตลอดจนการฉ้อโกงหลอกลวงต่าง ๆ  หน่วยงานที่จะนำ Generative AI มาใช้จึงต้องเข้าใจความเสี่ยงเหล่านี้อย่างถ่องแท้ก่อนนำมาปรับใช้กับธุรกิจ  รวมทั้งต้องใช้อย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ  

 

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Empowering Financial Inclusion with AI” ได้ยกตัวอย่างstartup ไทยที่นำ AI และ ML (Machine Learning) มาวิเคราะห์ข้อมูลของเกษตรกร เช่น สภาพอากาศและข้อมูลการเพาะปลูกในอดีต เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและรายได้ รวมทั้งช่วยวางแผนเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้มากขึ้นจากการมีข้อมูลให้ธนาคารพิจารณาความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อและความสามารถในการชำระคืนเงินของเกษตรกร  ขณะเดียวกัน startup อินโดนีเซียก็สามารถช่วยให้ร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อสั่งซื้อสินค้ามาขายได้ด้วยการ เปลี่ยนข้อมูล suppliers, distributors และคำสั่งซื้อ จากการเปลี่ยนวิธีเก็บเอกสารเป็นกระดาษให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำมาวิเคราะห์โดย AI และ ML เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของสถาบันการเงินได้เช่นเดียวกัน  ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า ปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางเงินโดยใช้ AI ได้แก่ การมี open data และ cloud computing power ที่เพียงพอ talents ที่เหมาะสม และการสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการต่าง ๆ

2. โอกาสทางธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “New Business Opportunities for Sustainable Growth” เห็นว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงมิติด้านความยั่งยืน มากกว่าที่จะเน้นเพียงผลกำไร เนื่องจาก stakeholders เข้าใจและให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) นักลงทุนที่ใช้ปัจจัย ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน และหน่วยงานกำกับดูแลที่พร้อมสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจและตัวกลางทางการเงิน สิ่งสำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรและการสร้างความร่วมมือ โดยบทบาทของสถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เพียงการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินเท่านั้น แต่สามารถช่วยเชื่อมโยง stakeholders ต่าง ๆ เข้ามาร่วมกันคิดหา use cases ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมได้ โดยมีข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเป็นพื้นฐาน ทั้งนี้ ในการพิจารณาโอกาสทางธุรกิจที่ควรดำเนินการ ควรเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “ทำไม” แล้วจึงพิจารณานวัตกรรมที่จะใช้ ความสามารถของรูปแบบธุรกิจที่จะรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น (scalability) และการกำหนดราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ (affordability)

3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับธุรกรรมดิจิทัล

 

ผู้บรรยายหัวข้อ “Digital Strategy for Public Infrastructure: India’s Experience” ได้แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนา India Stack ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้ประชากรอินเดียกว่า 1 พันล้านคนที่เดิมไม่มีบัตรประชาชนและบัญชีธนาคาร สามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลและบริการทางการเงินได้ India Stack มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) ระบบ digital identity ที่กำหนดเลขประจำตัวประชาชนและเชื่อมโยงกับข้อมูลชีวมิติของแต่ละคน (ระบบ Aadhaar) ซึ่งช่วยทำให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนสำหรับใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆ สามารถทำได้โดยมีต้นทุนต่ำ (2) ระบบการชำระเงินแบบ real time (ระบบ Unified Payment Interface หรือ UPI) ซึ่งช่วยให้ประชาชนทำธุรกรรม online และชำระเงินได้อย่างไร้รอยต่อ และ (3) ระบบจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของแต่ละคนบน Cloud storage ที่เชื่อมโยงกับเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเอกสารเพื่อทำธุรกรรม online ต่าง ๆ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงอย่างน่าเชื่อถือ  นอกจากนี้ สถาบันการเงินในอินเดียได้เริ่มให้บริการ account aggregator ที่ช่วยรวบรวมบัญชีและข้อมูลทางการเงินที่แต่ละคนมีกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งหากเจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูล ก็จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อสมัครใช้บริการทำได้โดยสะดวก รวดเร็ว และลดความซับซ้อนของขั้นตอน

 

ผู้ร่วมเสวนาหัวข้อ “Building Digital Highway for Businesses to Thrive in The Digital Era” เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอาจมีจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันได้ตามบริบทของแต่ละประเทศ เช่น กรณีอินเดียเริ่มจาก digital ID กรณีเกาหลีใต้เริ่มจาก data และกรณีไทยเริ่มจาก payment (PromptPay) แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการให้บริการบุคคลก้าวหน้าไประดับหนึ่งแล้ว ประเทศส่วนใหญ่จะมีประเด็นพิจารณาทำนองเดียวกัน กล่าวคือ จะนำโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดให้รองรับการทำธุรกรรม online และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับนิติบุคคล เช่น สินเชื่อสำหรับการดำเนินธุรกิจ ได้อย่างไร โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ที่อาจไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้หากมีภาระต้นทุนที่สูงเกินไป  ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนิติบุคคลประสบความสำเร็จ ได้แก่ 3 C’s (Collaboration ด้วยใจที่เปิดกว้าง, Connectivity ผ่านการพัฒนา Open API และ Common platform ที่ร่วมกันกำหนด open standards) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับแนวทาง 3 O’s ของ ธปท. (Open Competition, Open Data และ Open Infrastructure) ได้อย่างลงตัว  

 

สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังร่วมกันพัฒนา platform รองรับการพิสูจน์ยืนยันตัวตนและการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคล โดยเบื้องต้นจะครอบคลุม (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (2) e-consent & delegation (3) e-KYC (4) digital signature และ (5) e-document management ซึ่งจะให้บริการรองรับทั้งภาคการเงินและภาคธุรกิจอื่น ๆ ต่อไป

4. Responsible Innovation เพื่ออนาคต

 

ผู้บรรยายหัวข้อ “Responsible Innovation : Creating a Better Future for All” เห็นว่า responsible innovation เป็นเรื่องท้าทาย แต่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงเพื่ออนาคตดีกว่าของทุกคน โดยนวัตกรรมดังกล่าวต้องคำนึงถึงจริยธรรม ความเท่าเทียมกัน และความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมการสร้างผลิตภาพ ความสามารถในการแข่งขัน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพเพียงพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งหลายกรณีเป็นความเสี่ยงระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ภัยธรรมชาติ และปัญหาค่าครองชีพ นอกจากนี้ ผู้บรรยายได้แบ่งปันประสบการณ์ในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ให้ความสำคัญกับทั้งความพึงพอใจของลูกค้า มิติความยั่งยืน และการช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมโดยรวม เช่น โครงการ Green Logistics และ Digital Healthcare

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

18 กันยายน 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน

0 2283 6892

financialtechnologyoffice@bot.or.th

01
02
04