งานสรุปความเห็นและการเสวนา เปิดมุมมองการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) 

งานสรุปความเห็นและการเสวนา เปิดมุมมองการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) 29 กุมภาพันธ์ 2567

ตามที่ ธปท. ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวนโยบายการเปิดกว้างให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ (Open Banking Data for Consumer Empowerment) ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 31 ธันวาคม 2566 นั้น ในภาพรวม ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นด้วยกับหลักการและเป้าหมายที่ ธปท. เสนอ ในการผลักดันกลไกที่เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลของตนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และได้รับบริการที่ดีขึ้น และผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งเสริมการแข่งขันและพัฒนาบริการที่ดีขึ้น และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทิศทางการผลักดันให้มีกลไกให้ผู้ใช้บริการใช้สิทธิส่งข้อมูลในภาคสถาบันการเงินก่อน โดยบางส่วนเห็นว่าควรผลักดันกลไกที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลข้ามกันระหว่างภาคส่วนอื่นกับภาคสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะภาคตลาดทุนและภาคประกันภัย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้บริการที่เก็บอยู่หลายแหล่งไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาบริการและนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดียิ่งขึ้น โดยมีข้อเสนอแนะสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (รายละเอียดตามเอกสารสรุปความเห็นฯ)

 

1. ส่วนใหญ่เห็นว่ารูปแบบการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ (use case) ที่จะได้ประโยชน์มากจากการที่ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการได้ คือ

(1) การสมัครและการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ยื่นขอสินเชื่อจะเป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลที่แสดงถึงรายรับและรายจ่ายของผู้ใช้บริการ เช่น การเดินบัญชีเงินฝาก รายได้ประกอบการยื่นภาษี เงินสมทบประกันสังคม และการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ บางส่วนเห็นว่าข้อมูลที่บ่งบอกสถานะของบุคคลหรือบริษัท ซึ่งสามารถยืนยันความมีตัวตนที่แท้จริงที่มีอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการบังคับคดี การล้มละลาย การจดทะเบียนบริษัท และข้อมูลการถือครองสินทรัพย์ที่จับต้องได้ที่อยู่กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น ที่ดิน รถยนต์ อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน

(2) การรวมข้อมูลบัญชีทางการเงินไว้ที่เดียวเพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่นที่จะพัฒนาให้เหมาะกับผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น เช่น การวางแผนทางการเงิน ซึ่งข้อมูลที่แสดงรายรับรายจ่าย (เช่น
การเดินบัญชีเงินฝาก การใช้บัตรเครดิต การใช้ e-Money) และข้อมูลการถือครองสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่น หลักทรัพย์ กรมธรรม์ประกัน) จะเป็นประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ หากมีข้อมูลยอดหนี้สินของผู้ใช้บริการ จะทำให้สามารถมองภาพสถานะทางการเงินของผู้ใช้บริการได้อย่างครอบคลุมขึ้น

 

2. ต้องการทราบแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่อง (1) ขอบเขตของหลักเกณฑ์ที่จะออกบังคับใช้และการกำกับดูแลผู้ส่งและผู้รับข้อมูล และ (2) แนวทางการจัดทำมาตรฐานกลางและการมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการจัดทำมาตรฐานกลาง เช่น มาตรฐานหรือวิธีการทางเทคนิคในการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ

 

3. ขอให้คำนึงถึงมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ได้แก่ (1) ประโยชน์และต้นทุนของผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากลไกดังกล่าว (2) การสร้างความเชื่อมั่นในกลไกรับส่งข้อมูล เช่น แนวทางการป้องกันและมีการบริหารจัดการและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่รัดกุมตลอดวงจรชีวิตของข้อมูล และ (3) การส่งเสริมการใช้สิทธิส่งข้อมูลและการใช้บริการต่อยอดที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบให้ผู้ใช้บริการใช้งานได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และการส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทราบและเข้าใจสิทธิในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตน

 

นอกจากนี้ ในช่วงการเสวนาระหว่างผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย คุณฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต คุณชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ วีบูลล์ จำกัด คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และคุณสุพัชรินทร์ กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลแลกเปลี่ยนข้อมูล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทุกท่านเห็นตรงกันว่าข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญ และการผลักดันนโยบาย open data จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการคาดหวังจะได้รับ ดังนี้

  • คุณสฤณีกล่าวว่าข้อมูลช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและตัดสินใจเลือกใช้บริการทางการเงินที่ดีที่สุดได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • คุณสุพัชรินทร์กล่าวว่าการเชื่อมโยงข้อมูลของภาครัฐสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ในหลาย ๆ ด้าน ครอบคลุมทั้งการเรียกดู การยื่นลงทะเบียน การชำระเงิน เป็นต้น และสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดบริการใหม่ ๆ ของภาครัฐในอนาคตได้อีกมาก
  • คุณชลเดชกล่าวว่า open data ถือเป็น open opportunity ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทุกกลุ่ม ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก สามารถนำข้อมูลไปแข่งขันกันพัฒนาต่อยอดไปสู่บริการใหม่ ๆ ได้
  • คุณฐากรกล่าวว่านอกเหนือจากการต่อยอดบริการใหม่ ข้อมูลยังสามารถช่วยแก้ไข common pain point ของบริการประเภทเดิมที่ผู้ให้บริการหลายรายกำลังประสบปัญหาเหมือน ๆ กันอยู่ได้อีกด้วย

 

ในมุมของการกำหนดนโยบายและผลักดันเพื่อให้เกิด open data ได้อย่างยั่งยืน ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

 

  • คุณชลเดชกล่าวว่าการมี hackathon เพื่อเสาะหาบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากข้อมูล จะช่วยให้ประชาชนและผู้ให้บริการสามารถเห็นประโยชน์จาก open data ได้อย่างชัดเจนและจับต้องได้ อีกทั้งจะช่วยให้ประชาชนรู้จักและสนใจใช้งานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ต้องเร่งให้ความรู้ทางการเงินและดิจิทัลแก่ผู้ใช้งานเป็นวงกว้างควบคู่กัน
  • คุณสฤณีกล่าวว่าควรมีการยกระดับแนวทางการคุ้มครองข้อมูลของผู้บริโภคให้ชัดเจน รัดกุม ปลอดภัย และมีการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและดิจิทัลเช่นกัน เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้งานของผู้บริโภค และควรผลักดันนโยบาย open infrastructure และ open competition ควบคู่กับ open data เพื่อช่วยให้นโยบายสามารถเกิดประโยชน์ได้เต็มที่
  • คุณสุพัชรินทร์กล่าวว่าหน่วยงานภาครัฐยังมีข้อมูลอีกมากที่จะพิจารณาเปิดข้อมูลให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปต่อยอด และใช้ประโยชน์เพื่อนำไปพัฒนาการให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชน อย่างไรก็ดี ย้ำว่าผู้เก็บข้อมูลก็ต้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้บริการให้รัดกุม
  • คุณฐากรกล่าวว่าการดูแลเรื่องประโยชน์และต้นทุนให้มีความสมดุลเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งผู้รับและผู้ส่งข้อมูลมีภาระต้นทุนที่ต้องแบกรับ ทั้งนี้ การพิจารณาต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานหรือกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น การต่อยอดจากฐานข้อมูลหนี้ของเครดิตบูโร (NCB) จะสามารถช่วยลดระยะเวลา และภาระต้นทุนของทุกฝ่ายได้ 

 

ทั้งนี้ ธปท. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนจะสื่อสารแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจนในเดือนเมษายน 2567 และจัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ซึ่งจะประกอบด้วยผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (อาทิ ผู้ให้บริการทางการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์และที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non-bank) หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และตัวแทน SMEs และผู้บริโภค) เพื่อขับเคลื่อน Open Banking Data ร่วมกันต่อไป 

01
02
03

ข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน

สถาบันการเงิน