ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพบสื่อมวลชน (Meet the Press)

Meet the Press | 04 กรกฎาคม 2567

วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ธปท. จัดงาน ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย พบสื่อมวลชน (Meet the Press) ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

สรุปประเด็น

 

ส่วนที่ 1: เศรษฐกิจ

  • แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียม และมีประชาชนกลุ่มที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการผลิต (เช่น กลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่าง Hard Disk Drive สิ่งทอ ปิโตรเคมี และเหล็ก) และภาคท่องเที่ยว ขณะที่แม้เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ค่าครองชีพยังสูง สะท้อนจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นยังปรับสูงขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา
  • ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย[1] ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 3%[2] เทียบกับช่วง 10 ปีก่อนโควิดที่ 3-3.5% เป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นหลัก การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การยกระดับคุณภาพแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุนเทคโนโลยีและ R&D มากขึ้น

ส่วนที่ 2: อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

  • ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น การปรับดอกเบี้ยนโยบายจึงต้องชั่งน้ำหนักหลายมิติ ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลข้างเคียง เช่น ในช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ การสะสมหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • ดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ต้องตอบโจทย์หลายด้านพร้อมกัน และมีผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool) ดังนั้น การตัดสินใจต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะจะมีทั้งคนได้และคนเสีย เช่น ผู้ฝากเงินจะได้รับผลกระทบหากลดดอกเบี้ยลง เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงในปัจจุบันยังติดลบ
  • บริบทปัจจุบัน ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจการเงิน (outlook) ที่ กนง. มองไว้ (เศรษฐกิจทยอยกลับสู่ระดับศักยภาพ และเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบปลายปีนี้) แต่หาก outlook เปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ (outlook dependent) กนง. ก็พร้อมปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์
  • นอกจากดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. มีเครื่องมือเสริมอื่นๆ ที่ใช้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและมีผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น การเข้าดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้เงินบาทผันผวนสูง มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่มีการผ่อนเกณฑ์ LTV ในช่วงโควิด-19 และมาตรการทางการเงินทั้งการผลักดันสินเชื่อในช่วงวิกฤตและการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
  • มาตรการทางการเงินล่าสุด คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์แก้หนี้อย่างยั่งยืน (Responsible lending: RL) ที่จะช่วยลดภาระหนี้ ทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้สอดคล้องกับรายได้ที่มี ซึ่งจะช่วยแก้หนี้ได้ตรงจุดสำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาและช่วยลดภาระได้มากกว่าการลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยภายหลังออกมาตรการตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 ธปท. ให้ความสำคัญและเร่งรัดสถาบันการเงิน (สง.) ให้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ผ่านการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ทั้งนโยบายและระบบงานสนับสนุน การสื่อสารและติดตามลูกหนี้ การแก้หนี้ให้ลูกหนี้ และการแก้ไขหนี้เรื้อรัง โดย ธปท. ได้สั่งการให้ สง. เร่งแก้ไขปัญหาที่พบทันทีเพื่อให้การช่วยลูกหนี้ทำได้อย่างต่อเนื่อง และหาก ธปท. ประเมินว่ายังมีกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็พร้อมทบทวนและปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมต่อไป

ส่วนที่ 3: สินเชื่อ

  • ปัจจุบัน ยอดการปล่อยสินเชื่อขยายตัวลดลงสอดคล้องกับวัฏจักรสินเชื่อที่อยู่ในช่วงขาลง หลังจากขยายตัวในช่วงก่อน โดยมักมีความเข้าใจผิดว่า การที่ สง. เข้มงวดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเป็นผลจากหลักเกณฑ์ RL[3] โดยแท้จริงแล้ว ธปท.

o   ไม่มีการกำหนดอัตราส่วนภาระผ่อนชำระต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR)

o   ไม่ได้กำหนด credit scoring ขั้นต่ำในการปล่อยสินเชื่อ

o   ไม่มีการกำหนดตัวเลขรายได้คงเหลือขั้นต่ำหลังหักภาระผ่อนชำระของลูกหนี้

o   ไม่ได้กำหนดเกณฑ์ห้ามปล่อยสินเชื่อแก่คนหรือธุรกิจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ

o   ไม่ได้กำหนดวงเงินดาวน์รถขั้นต่ำ

 

  • นอกจากนี้ การชะลอลงของสินเชื่อไม่ใช่เพราะ สง. มาฝากเงินกับ ธปท. เพิ่มขึ้น ตามที่บางกลุ่มเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งสินเชื่อรวม (ธพ. และ SFIs) และยอดการฝากเงินผ่านธุรกรรม Bilateral Repo ที่ ธปท. ปรับเพิ่มขึ้น[4] จะเห็นได้ว่า สง. ไม่ต้องลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อมาฝากเงินกับ ธปท. แต่ในทางตรงกันข้าม การเพิ่มขึ้นของยอดการฝากเงินกับ ธปท. สะท้อนสภาพคล่องที่สูงของ สง. ซึ่งจะช่วยรองรับการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น ยอดการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอลง ไม่ได้มาจากการเพิ่มสภาพคล่องที่ สง. ฝากไว้กับ ธปท. แต่เป็นผลจากการประเมินผลตอบแทนและความเสี่ยงของการให้กู้ยืมเป็นสำคัญ
  • ที่ผ่านมา สง. ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้ SMEs เพราะต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ SMEs อยู่ในระดับสูง จากความเสี่ยงด้านเครดิต ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยอยู่ระหว่างผลักดันกลไกค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพ และการเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการทางการเงินใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้หลายแหล่งขึ้น (Open data) เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้า ทำให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้น ด้วยต้นทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยง

Video

สินเชื่อ

04 ก.ค. 2567

เศรษฐกิจ

04 ก.ค. 2567

อัตราดอกเบี้ย

04 ก.ค. 2567

มาตรการทางการเงิน

04 ก.ค. 2567

อ้างอิง

[1] ขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนแรงงาน ความสามารถในการผลิต

[2] แบบจำลองของ ธปท. ประมาณการจาก (1) ฟังก์ชันการผลิต (production function) โดยใช้ตัวแปรด้านผลิตภาพการผลิต ทุน จำนวนชั่วโมงทำงานของแรงงาน และคุณภาพแรงงาน โดยอ้างอิงงานศึกษาของ US Congressional Budget Office, IMF, World Bank ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางฮ่องกง ที่ได้ potential growth ประมาณ 3.0% (2) Multivariate Unobserved Component Model (UCM) ที่แยกแนวโน้ม (trend) ออกจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (cyclical) โดยใช้ตัวแปรจำนวนชั่วโมงทำงาน อัตราการว่างงาน อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ทุน และอัตราเงินเฟ้อ โดยอ้างอิงจากงานศึกษาของธนาคารกลางยุโรปที่ได้ potential growth ประมาณ 3.0%

[3] เกณฑ์ RL ส่วนของการปล่อยกู้ใหม่ เจ้าหนี้ต้องประเมินว่าภายหลังหักการชำระหนี้รายเดือนแล้ว ลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ เช่น จ่ายค่าอาหาร ค่าเช่าบ้านได้ 

[4] สินเชื่อรวม (ธพ. และ SFIs) ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท (จาก 14.8 เป็น 21.4 ล้านล้านบาท) ขณะที่ยอดการฝากเงินผ่านธุรกรรม Bilateral Repo ที่ ธปท. ก็เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านล้านบาท (จาก 1.3 เป็น 2.5 ล้านล้านบาท)