การปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 31/2567 | 02 สิงหาคม 2567

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

 

1. การผ่อนชำระขั้นต่ำ (minimum payment) ของบัตรเครดิต

1.1 ผ่อนปรนอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยกำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

1.2 ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ สำหรับครึ่งปีแรก และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

1.3 ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของบัตรเครดิตไปเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) เพื่อจ่ายชำระเป็นงวด โดยลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ ทั้งนี้ ธปท. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต้องเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้เพิ่มเติมด้วย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง ธปท. จะดำเนินการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2567

 

2. การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (Debt Consolidation)

ธปท. ส่งเสริมให้สถาบันการเงิน (สง.) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการรวมหนี้บ้านและสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน (loan-to-value ratio) ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนด โดยผู้ให้บริการที่เป็นผู้รวมหนี้ต้องดูแลให้ภาระของลูกหนี้ภายหลังการรวมหนี้บรรเทาลงกว่าก่อนรวมหนี้ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568

 

3. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)


ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี
(อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม) เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ รวมถึงกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) ลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น สื่อสารข้อดีข้อเสียของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงตารางข้อมูลระยะเวลาการผ่อนชำระพร้อมภาระดอกเบี้ย โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsible Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

2 สิงหาคม 2567

คำถาม-คำตอบ

  • ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้บางกลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และยังต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม การปรับขึ้น minimum payment เป็น 10% ตามกำหนดการเดิม อาจกระทบกับลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว ดังนั้น เบื้องต้นจึงผ่อนปรนให้เป็น 8% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
  • ธปท. จะติดตามและประเมินผลของมาตรการอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำที่เหมาะสมต่อไป

  • ลูกหนี้ส่วนใหญ่ (เกินกว่า 90% ของลูกหนี้ทั้งหมด) สามารถจ่าย minimum payment ได้เกิน 8% แต่สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่อาจมีปัญหาสภาพคล่อง และไม่สามารถจ่าย minimum payment ที่ 8% ได้ จะสามารถเข้ารับการปรับโครงสร้างหนี้ได้ก่อนที่จะเป็น NPL เช่น เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็น term loan และลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือ หรือเมื่อลูกหนี้เป็น NPL แล้ว ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ได้ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและตอบโจทย์ลูกหนี้ได้ดีกว่า เนื่องจากจ่ายค่างวดต่อเดือนลดลง ปิดจบหนี้ได้ไว และมีภาระดอกเบี้ยรวมน้อยกว่า
  • การปรับลด minimum payment ลงไปที่ 5% จะส่งผลให้ปิดจบหนี้ได้ช้าลง และภาระดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายจะสูงขึ้น
    ตัวอย่าง ยอดหนี้บัตรเครดิต 30,000 บาท และจ่าย minimum payment ที่ 5%* เมื่อเทียบกับการจ่าย minimum payment ที่ 8% จะทำให้ลูกหนี้มีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมเพิ่มขึ้น จากประมาณ 5,700 บาท เป็น 10,200 บาท และใช้เวลาปิดหนี้นานขึ้นจาก 5 ปี เป็น 8 ปี
    (*จ่าย minimum payment ที่ 5% หรือ 100 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า)

  • ลูกหนี้ที่จ่ายขั้นต่ำที่ 5% ได้ แต่ไม่ถึง 8% สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible lending (RL) และลูกหนี้จะมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินบัตรเครดิตส่วนที่เหลือด้วย
  • สำหรับลูกหนี้ที่ปัจจุบันไม่สามารถชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้ ก็ยังสามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้เกณฑ์ Responsible lending (RL) ได้เช่นกัน ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ก่อนเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง เช่น เปลี่ยน revolving loan เป็น term loan ลดค่างวดและขยายระยะเวลา และหลังเป็น NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนโอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญา หรือยึดทรัพย์ และดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงลูกหนี้อาจเข้าร่วมในคลินิกแก้หนี้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3-5% ต่อปี จะช่วยลดภาระค่างวดต่อเดือนลงได้อีก

  • ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและพิจารณาความเหมาะสมของอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำให้เหมาะสมในระยะต่อไป โดยติดตามจากบริบททางเศรษฐกิจและปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้าน เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำจะไม่กระทบลูกหนี้เป็นวงกว้าง/อย่างมีนัยสำคัญ

  • ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้เวลาในการเตรียมการ อาทิ ปรับกระบวนการและระบบงาน วิธีการคำนวณ และกระบวนการควบคุมดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้จะได้รับดอกเบี้ยจ่ายคืนในจำนวนที่ถูกต้องและตรงเวลา
1

ข้อมูลเพิ่มเติม:

1. มาตรการ minimum payment ของบัตรเครดิต และมาตรการรวมหนี้ (debt consolidation) : ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน
โทรศัพท์ : 0 2356 7676, 0 2283 5837 E-mail: RLP-RPD@bot.or.th, CP-RPD@bot.or.th
2. หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) : ฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน 
โทรศัพท์: 0 2356 7837, 0 2356 7203 E-mail:
MCPolicy2-FCD@bot.or.th

ช่วยเหลือลูกหนี้